ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกาทำภารกิจส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์คือในเดือน ธ.ค.2515 ซึ่ง 2 นักบินอวกาศ ยูจีน เซอร์นัน และ แฮร์ริสัน ชมิตต์ จากภารกิจ อพอลโล 17 กลายเป็นมนุษย์คนที่ 11 และ 12 ที่ได้เหยียบย่างบนดวงจันทร์ ในอีก 50 ปีต่อมา องค์การนาซา สหรัฐฯ ได้ฟื้นโปรเจกต์กลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในโครงการ อาร์ทีมิส (Artemis) ตั้งชื่อตามน้องสาวฝาแฝดของเทพอพอลโลในตำนานเทพปกรณัมกรีก คาดว่าจะส่งนักบินอวกาศไปเดินบนดวงจันทร์ภายในปี พ.ศ.2568 หรือ 2569 และตอนนี้ก็ได้คัดเลือกนักบินอวกาศ 4 คนที่จะทำภารกิจในรอบ 50 ปีไว้เรียบร้อยแล้ว

การเปิดโปรเจกต์ใหญ่ไปดวงจันทร์ไม่ใช่แค่ส่งมนุษย์ไปเดินบนดวงจันทร์อีกหน แต่ยังวางแผนตั้งฐานปฏิบัติการ เล็งพื้นที่บริเวณ “ขั้วใต้ของดวงจันทร์” ที่มีน้ำแข็งอยู่มากมาย เมกะโปรเจกต์นี้หอมหวนดึงดูดบรรดาบริษัทเอกชนด้านธุรกิจอวกาศก้าวสู่สังเวียนแข่งขันให้ได้งานจากนาซา หนึ่งในนั้นคือ บริษัทแอสโตรโบติก เทคโนโลยี ซึ่งเมื่อ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งส่ง ยานอวกาศเพเรกริน (Peregrine) ติดบนหัวจรวดนำส่ง วัลแคน เซนทอร์ (Vulcan Centaur) ของบริษัทยูไนเต็ด ลอนช์ อัลลิอันซ์ (ULA) พุ่งจากฐานปล่อยยานในแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ในภารกิจชื่อ Cert–1 ซึ่งเมื่อยานเพเรกรินแยกตัวจากจรวด ก็จะมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์

ยานเพเรกรินไม่ได้เดินทางไปตัวเปล่าๆ แต่ยังบรรทุกสัมภาระของลูกค้าที่แตกต่างกัน 20 รายการ ในจำนวนนี้มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของนาซา 5 ชิ้น เพื่อใช้แสดงลักษณะสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์หลังจากที่ยานลงจอด ได้แก่ Laser Retroreflector Array (LRA) กระจกสะท้อนแสงเลเซอร์ที่จะช่วยในการวัดระยะทางที่แม่นยำระหว่างดวงจันทร์กับโลก และทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งของยานเพเรกรินบนพื้นผิวดวงจันทร์, Lunar Energy Transfer Spectrometer (LETS) จะใช้ตรวจวัดรังสีในสภาพแวดล้อมของยานอวกาศทั้งในวงโคจรของดวงจันทร์และบนพื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนอีก 3 เครื่องที่เหลือคือ Near Infrared Volatile Spectrometers System (NIRVSS) ใช้ตรวจวัดไฮโดรเจนบนพื้นผิวดวงจันทร์และใต้พื้นผิว, Peregrine Ion Trap Mass Spectrometers for Lunar Surface Volatiles (PITMS) จะศึกษาบรรยากาศที่บางเบาของดวงจันทร์ และ Neutron Spectrometer System จะค้นหาการเปลี่ยนแปลงของวัสดุที่มีไฮโดรเจนบนพื้นผิวระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนของดวงจันทร์

...

เครื่องมือเหล่านี้จะได้แสดงศักยภาพหรือไม่ก็ต้องลุ้นให้เพเรกรินลงจอดในวันที่ 23 ก.พ.ได้สำเร็จ.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม