• ข่าวลือเกี่ยวกับสหรัฐฯ เริ่มปรากฏให้เห็นในไต้หวันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติในวันที่ 13 ม.ค.นี้
    โดย "อี้เหม่ยหลุน" หรือวิมตินิยมที่มีต่อสหรัฐฯ ได้ตั้งคำถามถึงความซื่อสัตย์ของชาติพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ที่แสดงภาพว่าเกาะแห่งนี้เป็นเหมือนโรงรับจำนำที่อเมริกาใช้ประโยชน์
  • ผลสำรวจชี้ว่า ประชาชนชาวไต้หวันยังคงไว้วางใจสหรัฐฯ มากกว่าจีน แต่การสำรวจ American Portrait ประจำปีที่จัดทำโดยนักวิชาการชาวไต้หวัน พบว่าในปีที่แล้วมีเพียง 34% ของชาวไต้หวันที่เชื่อว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่น่าเชื่อถือ เทียบกับ 45% ในปี 2564
  • ความกังขาที่มีต่อสหรัฐฯ ยังเผยให้เห็นความไม่มั่นคงที่มีมานานหลายทศวรรษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความคิดแบบเด็กกำพร้า" ของไต้หวัน จากเหตุการณ์ปี 2522 ที่สหรัฐฯ เปลี่ยนการรับรองทางการทูตจากไต้หวันไปเป็นจีน และตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเกาะแห่งนี้

"ชาวไต้หวันบริโภคเนื้อหมูปนเปื้อนสารพิษที่นำเข้าจากสหรัฐฯ"


"รัฐบาลไต้หวันแอบเก็บเลือดจากพลเมืองและมอบให้สหรัฐฯ เพื่อสร้างอาวุธชีวภาพเพื่อโจมตีจีน"

ข่าวลือเกี่ยวกับสหรัฐฯ เหล่านี้ ปรากฏให้เห็นในไต้หวันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติในวันที่ 13 ม.ค.นี้
"อี้เหม่ยหลุน" หรือวิมตินิยมที่มีต่อสหรัฐฯ ได้ตั้งคำถามถึงความซื่อสัตย์ของชาติพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน แสดงภาพว่าเกาะแห่งนี้เป็นเหมือนโรงรับจำนำที่อเมริกาใช้ประโยชน์ นักวิเคราะห์กล่าวว่าเป้าหมายสูงสุดของจีนคือการผลักดันให้เกิดช่องว่างระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ และผลักดันชาวไต้หวันให้เข้าสู่อ้อมอกที่อบอุ่นของจีน

กวง ชุนหยาง นักวิจัยด้านการบิดเบือนข้อมูลซึ่งเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ในปี 2561 กล่าวว่า "ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องเล่าที่ว่า สหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนไต้หวัน หรือจะละทิ้งไต้หวันหากมีสงคราม หรือสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยต่อสหรัฐฯ" ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิดเบือนข้อมูลกล่าวว่า จีนมีส่วนในการเผยแพร่ข้อความเหล่านี้ และอาจถึงขั้นสร้างข้อความนี้ขึ้นมาด้วยซ้ำ หลักฐานของพวกเขายังชี้ไปที่ชาวไต้หวันที่มีความใกล้ชิดกับจีนด้วย

...

ทฤษฎีสมคบคิดอาจไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิดเสมอไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเด็นเด่นของข่าวที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ อยู่ในด้านที่ไม่ดี หรือชี้ว่าสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่ไม่น่าเชื่อถือ

พูมา เฉิน ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลบิดเบือนของจีน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี กล่าวว่า "สำหรับจีน นี่คือการต่อสู้เพื่อความคิดเห็นสาธารณะ" เขากล่าวว่า "การโน้มน้าวทุกคนว่าจีนเป็นประเทศที่ดีนั้นยากกว่า แต่การโน้มน้าวทุกคนว่าอเมริกากำลังมีปัญหานั้นค่อนข้างง่ายกว่า สำหรับจีนนี่ถือว่าประสบความสำเร็จ"

ข่าวเรื่องบริษัท ทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของไต้หวันขยายกิจการในสหรัฐฯ ถูกมองว่าเกิดจากการบังคับของอเมริกา และเป็น "การเจาะ" ทรัพยากรของไต้หวัน และการขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวันถือเป็นการ "โกง" เงิน ด้วยการส่งอาวุธที่ไม่น่าเชื่อถือให้กับไต้หวัน

สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในประเด็นความกังขาที่มีต่อสหรัฐฯ 84 เรื่อง ที่ค้นพบโดยสถาบันวิจัย IORG ระหว่างปี 2564 ถึง 2566 บนสื่อภาษาจีน โซเชียลมีเดีย ฟอรัมออนไลน์ PTT และแพลตฟอร์มรับส่งข้อความ LINE

หน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลประจำมณฑลของจีนและสื่อของรัฐได้ขยายความเรื่องเหล่านี้ และในบางกรณีก็เป็นแหล่งที่เผยแพร่ข่าวต้นทางด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม แหล่งที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองไต้หวันและองค์กรสื่อที่เป็นมิตรต่อจีน ทั้งนี้ ได้เกิดข้อสงสัยมานานแล้วเกี่ยวกับอิทธิพลของจีน และรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อปี 2562 พบหลักฐานที่เจ้าหน้าที่จีนแผ่นดินใหญ่จ่ายเงินให้สื่อในไต้หวันเพื่อให้ความคุ้มครอง

ข่าวลือเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพปรากฏขึ้นครั้งแรกในรายงานของหนังสือพิมพ์ไต้หวันโดยปราศจากหลักฐาน ซึ่งบางคนชี้ว่าเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน

ข่าวลือเรื่องหมูในสหรัฐฯ เริ่มต้นด้วยการโพสต์ออนไลน์โดยไม่มีหลักฐานว่า รัฐบาลพยายามบิดเบือนว่าเนื้อหมูที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นเนื้อหมูในไต้หวัน หลายสัปดาห์ต่อมา พบมีผู้กล่าวอ้างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อหมูปนเปื้อนสารพิษของสหรัฐฯ ซึ่งสืบย้อนไปถึงรายงานเก่าที่ถูกหักล้างโดยหนังสือพิมพ์ฮ่องกงที่สนับสนุนจีน ขณะที่ความเชื่อที่ว่าเนื้อหมูของสหรัฐฯ ไม่มีความปลอดภัย ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในไต้หวันมานานหลายปี

แต่ประเด็นนี้ก็กลับมาเป็นสิ่งที่มีการกล่าวถึงอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี นายเฉินประเมินว่าการรณรงค์บิดเบือนข้อมูลใดๆ ก็ตามจะต้องโน้มน้าวความเชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 3% จึงจะส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง

...

ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2563 ไต้หวันพบกระแสข้อมูลการบิดเบือนต่อต้านพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือดีพีพี จำนวนมหาศาล ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากจีน แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งสมัยที่สองของเธออย่างถล่มทลาย แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวไต้หวันจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ทางการเมืองก็เปลี่ยนไปตั้งแต่นั้นมา ประการแรก ความตึงเครียดกับจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยจีนได้เน้นย้ำเป้าหมายการรวมเป็นหนึ่งเดียวหลายครั้ง โดยเสนอสันติภาพโดยไม่ปิดบังการใช้กำลัง และประการที่สอง ศรัทธาที่มีต่อสหรัฐฯ กำลังลดน้อยลง

ผลสำรวจชี้ว่า ประชาชนชาวไต้หวันยังคงไว้วางใจสหรัฐฯ มากกว่าจีน แต่การสำรวจ American Portrait ประจำปีที่จัดทำโดยนักวิชาการชาวไต้หวัน พบว่าในปีที่แล้วมีเพียง 34% ของชาวไต้หวันที่เชื่อว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่น่าเชื่อถือ เทียบกับ 45% ในปี 2564

การสำรวจอีกครั้งโดยมูลนิธิความคิดเห็นสาธารณะไต้หวัน พบว่า 51% ของชาวไต้หวันในช่วงอายุ 20 ต้นๆ ระบุว่ามีความระแวงในสหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาทุกกลุ่มอายุ องค์กรสำรวจความคิดเห็นกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ชาวไต้หวันอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะถูกส่งไปยังแนวหน้าในการทำสงครามที่อาจเกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจเกิดจากการกระทำของอเมริกาเอง นักวิเคราะห์กล่าวว่า การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และความแตกแยกของสภาคองเกรสที่ไม่เต็มใจที่จะให้เงินสนับสนุนยูเครนในการทำสงคราม ส่งผลให้ไต้หวันเกิดความกลัวว่าอเมริกาจะละทิ้งหรือล้มเหลวในการแทรกแซง หากถูกจีนโจมตี

ในปี 2021 นายจ่าว ชอกง ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเรียกร้องให้เปิดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนเตือนว่า "หากไต้หวันไม่ต้องการเป็นอย่างอัฟกานิสถาน ก็จะต้องคิดให้ดีว่าต้องการทำสงคราม หรือความสงบสุข"

...

นายหยู ฉือห่าว ผู้เขียนรายงานการศึกษาของ IORG กล่าวว่า ความกังขาของสหรัฐฯ ยังมีส่วนสำคัญในการ "บ่มเพาะ" ความสงสัย "และเมื่อสหรัฐฯ ทำผิดพลาด ก็จะยืนยันข้อสงสัยก่อนหน้านี้"

เช่นเดียวกับการโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือนข้อมูลอื่นๆ ความกังขาที่มีต่อสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากความกลัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารหรือภัยคุกคามจากสงคราม แต่มันยังเผยให้เห็นบางสิ่งที่เป็นรากฐานในจิตใจของชาวไต้หวันด้วย นั่นก็คือ ความไม่มั่นคงที่มีมานานหลายทศวรรษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับอเมริกา 

นายกวงชุนหยาง กล่าวว่า สิ่งนี้มีต้นกำเนิดมาจาก "ความคิดแบบเด็กกำพร้า" ของไต้หวัน "ไต้หวันเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิหลายแห่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนมือครั้งแล้วครั้งเล่าโดยผู้ปกครองคนก่อนๆ มุมมองทางประวัติศาสตร์นั้นยังคงอยู่ในความทรงจำร่วมกันเสมอ "แต่สิ่งกระตุ้นโดยตรงที่สุดคือเหตุการณ์ในปี 2522"

นั่นคือปีที่สหรัฐฯ ทำให้โลกและไต้หวันต้องตกตะลึง เมื่อสหรัฐฯ สานสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ ภายหลังการเจรจาลับมานานหลายเดือน โดยสหรัฐฯ เปลี่ยนการรับรองทางการทูตจากไต้หวันไปเป็นจีน สหรัฐฯ จึงตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเกาะแห่งนี้ แต่ยังผ่านกฎหมายที่ระบุว่าต้องช่วยไต้หวันปกป้องตัวเองด้วย จนถึงทุกวันนี้ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการอย่างใกล้ชิดและขายอาวุธให้กับเกาะแห่งนี้

...

นายหยางกล่าวว่า การตัดสัมพันธ์ทางการทูตทำให้เกิดความคิดที่ว่า "ไต้หวันอาจถูกสหรัฐฯ ละทิ้งอีกครั้ง" ความเจ็บปวดลึกๆ ดังกล่าวทำให้เกิดเพลงไต้หวันยอดนิยมในช่วงปี 2523 ชื่อ "เด็กกำพร้าแห่งเอเชีย" (Orphan of Asia) โดยพูดถึง "เด็กกำพร้าร้องไห้ในสายลม" ขณะที่ "ลมตะวันตกร้องเพลงเศร้าในทางตะวันออก"

นายหยางกล่าวเสริมว่า นี่คือสาเหตุที่ความกังขาของสหรัฐฯ มักจะทำงานควบคู่กับเรื่องเล่าที่สนับสนุนจีนในฐานะ "พลังแห่งการดึงและผลักดัน" ที่กระตุ้นให้ไต้หวันมีส่วนร่วมกับจีนมากขึ้นเพื่อรับประกันสันติภาพ 

"หากไต้หวันเป็นเด็กกำพร้า ก็ควรเป็นบุตรที่ยิ่งใหญ่ที่กลับมายังประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างจีน แทนที่จะคงอยู่ในฐานะลูก "รอง" ของสหรัฐฯ"

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันเป็นยาแก้พิษที่ดีที่สุดสำหรับความกังขาที่มีต่อสหรัฐฯ นายหยูกล่าวว่า "หากพันธมิตรของเราตระหนักถึงอันตรายของความกังขาต่อสหรัฐฯ มากขึ้น และออกมาย้ำถึงแง่มุมดีๆ ของการเป็นหุ้นส่วนของของสองชาติ ผู้คนก็จะเห็นว่าความสัมพันธ์นี้ดีสำหรับเรา" 

"จีนทำเช่นนี้ตลอดเวลา พวกเขาพูดถึงผลประโยชน์ทั้งหมดที่ไต้หวันได้รับจากจีน แต่คุณไม่เห็นสิ่งนี้มากนักในการส่งข้อความเชิงนโยบายของสหรัฐฯ"

ไต้หวันเสริมการป้องกันการบิดเบือนข้อมูล ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้แก่สาธารณะ การรายงานสายด่วน และแม้แต่แชตบอต AI ที่ชี้ให้เห็นข่าวปลอม รัฐสภาของไต้หวันยังได้พิจารณากฎหมายต่อต้านการบิดเบือนข้อมูล แม้ว่าจะกระตุ้นให้เกิดความกังวลเรื่องการจำกัดเสรีภาพของสื่อก็ตาม แต่คาดว่าไต้หวันเป็นสถานที่ที่ตกเป็นเป้าหมายมากที่สุดในโลก สำหรับข้อมูลเท็จที่เผยแพร่โดยรัฐบาลต่างชาติ

ลี่ เหว่ยผิง นักวิจัยจากศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงไต้หวัน กลุ่มต่อต้านการบิดเบือนข้อมูล กล่าวว่า หลายปีของการโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือนข้อมูล ได้นำไปสู่การแบ่งแยกสังคมและสร้างความไม่ไว้วางใจต่อข้อเท็จจริงมากขึ้น

"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลที่บิดเบือนมากนัก แต่อยู่ที่ทัศนคติของผู้คนต่อข้อมูลในตอนนี้ พวกเขาจะถามว่า คุณจะเชื่อเรื่องนี้ได้ไหม พวกเขาจะตัดสินเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลตามความเกี่ยวข้องของพรรคหรือมุมมองทางการเมือง"

นายเฉินเตือนว่า เมื่อไต้หวันปกป้องตัวเองได้ดีขึ้น จีนก็จะมีอิทธิพลต่อวาทกรรมด้วยวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน เขากล่าวว่า คำเตือนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลไต้หวันเกี่ยวกับอันตรายจากอิทธิพลของจีน บวกกับความพยายามของจีนในการตีตราคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อจีน ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าในหมู่ชาวไต้หวันทั่วไป

"ทุกวันนี้ แม้ว่าเราจะอยากหารือเกี่ยวกับประเด็นของจีน แต่ก็ยังมีคนที่จะพูดว่า ทำไมคุณไม่พูดถึงประเด็นของอเมริกาล่ะ".

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign