ในเดือน ส.ค.2564 ทีมวิจัยที่ประกอบด้วย เทรุฮิโกะ วากายามะ ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยยามานาชิ และทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา ในญี่ปุ่น ได้ส่งตัวอ่อนของหนูที่ถูกแช่แข็งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งนักบินอวกาศได้ละลายตัวอ่อนหนูในระยะแรก โดยใช้อุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้และเลี้ยงไว้บนสถานีอวกาศเป็นเวลา 4 วัน

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ตัวอ่อนหนูที่เพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะไร้น้ำหนักจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ แบบเดียวกับเซลล์ที่พัฒนาเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดาและรก นี่คือการศึกษาครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจเจริญเติบโตได้ในอวกาศ และยังพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสภาพของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอและยีน หลังจากที่ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอ่อนระยะบลาโตซิสต์ที่ถูกส่งกลับไปยังห้องทดลองบนโลก สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแรงโน้มถ่วงไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ในอนาคตจำเป็นต้องปลูกถ่ายตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่เพาะเลี้ยงในสภาวะไร้น้ำหนักของสถานีอวกาศฯ เข้าไปในหนูทดลองเพื่อดูว่าหนูจะให้กำเนิดลูกได้หรือไม่ หากได้ผลก็จะเป็นสิ่งยืนยันว่าตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์เป็นปกติ การวิจัยนี้จะมีความสำคัญต่อภารกิจสำรวจอวกาศและการตามหาอาณานิคมใหม่ เช่น โครงการอาร์ทีมิสขององค์การนาซา สหรัฐฯ วางแผนจะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์เพื่อเรียนรู้วิธีการอยู่ที่นั่นในระยะยาว และช่วยเตรียมการสำหรับการเดินทางไปดาวอังคารในช่วงปลายทศวรรษ 2030.

Credit : NASA

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่

...