จีนเร่งการส่งออกพาหนะพลังงานไฟฟ้ามายังภูมิภาคอาเซียน จากฐานการผลิตในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง แต่ยังคงเผชิญข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรและอุปสรรคด้านนโยบาย
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวจากหลายประเทศในอาเซียนมากกว่า 20 คน ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท พาหนะไฟฟ้ากว่างซี ลู่หยวน (Guangxi Luyuan Electric Vehicle Co., Ltd.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จีน-อาเซียน ในเขตกังเป่ย เมืองกุ้ยกัง ในกิจกรรม Guangxi in the Eyes of International Media ประจำปี 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสำนักข่าวไชน่า นิวส์ เซอร์วิส สาขากว่างซี และได้ร่วมเยี่ยมชมสายการผลิต และสัมผัสประสบการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนกำลังกลายเป็นสินค้ายอดนิยมระดับโลก ขณะที่การผลิตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทางการเมืองกุ้ยกังได้วางแผนและสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จีน-อาเซียน ที่มีมาตรฐานระดับสูง โดยบริษัทยานยนต์ในประเทศที่มีชื่อเสียงมากกว่า 100 แห่ง เช่น อายม่า, หลูหยวน, ไทล์, ลิมา และโอไป ได้ตั้งฐานการผลิตในพื้นที่แห่งนี้
...
ปัจจุบัน กำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 5,000,000 คัน รถไฟฟ้าสามล้อ 500,000 คัน และชิ้นส่วน 5,000,000 ชุด ทำให้ ฐานการผลิตดังกล่าวเป็นฐานการผลิตพาหนะไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในจีน
เนื่องจากการดำเนินการตามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต้นทุนการนำเข้าจึงลดลง ส่งผลให้โอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น และนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในภูมิภาค เจ้าหน้าที่ของกุ้ยกังกล่าวว่า ทางการได้มุ่งมั่นที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ 4,167 ไร่ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ มูลค่า 1 แสนล้านหยวน หรือราว 500,000 ล้านบาท และส่งเสริมการสร้างแบรนด์พาหนะไฟฟ้าที่มีคุณภาพในกุ้ยกัง
จู เซียวหลาน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท พาหนะไฟฟ้ากว่างซี ลู่หยวน กล่าวว่า บริษัทวางแผนที่จะลงทุนรวม 400 ล้านหยวน เพื่อสร้างสายการผลิต 10 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2,000,000 คันต่อปี และมูลค่าผลผลิตต่อปีประมาณ 5 พันล้านหยวน
โดยในปี 2565 ฐานการผลิตหลูหยวนกว่างซี สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 520,000 คัน ส่วนในปีนี้ กำลังการผลิตตามแผนคือพาหนะพลังงานไฟฟ้า 1,000,000 คัน และมูลค่าผลผลิตจะสูงถึง 1,500 ล้านหยวน และเนื่องจากในปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรถที่ใช้พลังงานน้ำมันเป็นไฟฟ้า นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการส่งออกรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของจีนไปยังภูมิภาคดังกล่าว และในอนาคตได้มีการวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบดังกล่าวของโรงงานในกว่างซี เพื่อส่งออกรถไปยังตลาดของประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทยและอินโดนีเซีย
ด้านบริษัท Opai Electric Vehicle เป็นหนึ่งในสิบบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน ได้อาศัยฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จีน-อาเซียน ในเมืองกุ้ยกัง และสร้างความร่วมมือกับกระทรวงการค้าต่างประเทศ เพื่อเตรียมส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ในกว่า 20 ประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
เติ้ง ป๋อ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของบริษัท Opai Electric Vehicle กล่าวว่า บริษัทส่งออกรถไปยังตลาดอาเซียนทุกเดือน และคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกิน 300,000 คันในปีนี้
...
อย่างไรก็ตาม หลิน เส้าหัว เจ้าหน้าที่รัฐบาลเมืองกุ้ยกังเปิดเผยว่า ภาษีศุลกากรและอุปสรรคด้านนโยบายกำลังจำกัดการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่อาเซียน ขณะที่การส่งออกและความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงไม่บรรลุเป้าหมาย ขณะที่การส่งออกและความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
"ปัญหาต่างๆ เช่น มาตรฐานสากลเกี่ยวกับแบตเตอรี่และอุปกรณ์ ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายสามารถหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อค่อยๆ จัดการกับปัญหา ความร่วมมือก็จะใหญ่ขึ้นและการสื่อสารก็จะขยายออกไป"
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ถือเป็นพื้นที่ในจีนที่อยู่ติดกับประเทศในอาเซียนทั้งทางทะเลและทางบก และเป็นเส้นทางเดินทะเลที่สะดวกที่สุดในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ขณะที่เมืองกุ้ยกัง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกว่างซี สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกทั้งจากรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และการขนส่งทางน้ำคุณภาพสูง โดยท่าเรือกุ้ยกัง นับเป็นท่าเรือแม่น้ำแห่งแรกในระบบแม่น้ำเพิร์ล และเป็นหนึ่งในช่องทางที่สะดวกที่สุดสำหรับการส่งออกสินค้าจากตะวันตกเฉียงใต้ไปยังฮ่องกง มาเก๊า และอาเซียน.