ระบบสุริยะเราประกอบด้วยดาวฤกษ์แม่ ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์บริวาร 8 ดวง เรียงกันจากชั้นในสุดไปจนถึงชั้นนอก ไล่เรียงจากดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เคลื่อนโคจรรอบดวงอาทิตย์ อย่างไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยหรือหนีหาย แต่อาจมีคนสงสัยว่าแล้วมีบ้างไหมที่ดาวจะหนีไปจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตน ก็ต้องบอกว่ามีและพวกมันยังกระจัด กระจายไปทั่วกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแห่งชาติจีน ของสภาวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่า การหลบหนีของดวงดาวจากบ้านเกิดของตนคือกระบวนการสำคัญในการวิวัฒนาการ ซึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือกก็เช่นกัน สาเหตุที่เป็นไปที่ทำให้ดาวหลบหนีก็อาจเพราะดาวถูกผลักออกไป เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ในระบบดาวที่มีดาวอายุน้อยๆหลายดวง หรือดาวถูกพลังงานที่เกิดจากวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ ในช่วงดาวสูญเสียการควบคุมหรือมีปฏิสัมพันธ์ในเมฆโมเลกุล ซึ่งดาวที่มีวิถีโคจรค่อนข้างชัดเจนมักจะแยกตัวออกจากแหล่งกำเนิดโดยสิ้นเชิง แต่ในทางตรงกันข้าม ดาวทารกมักจะฝังลึกอยู่ในเมฆโมเลกุล ทำให้ยากต่อการวัดลักษณะการเคลื่อนไหวของพวกมัน ส่งผลให้ข้อมูลการสังเกตการณ์ดาวที่กำลังหลบหนีไปจากแหล่งกำเนิดยังคงไม่สมบูรณ์มากนัก

นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวแห่งชาติจีนและมหาวิทยาลัยกวางโจวในจีน เผยว่า จากการใช้ความเข้มของเส้นสเปกตรัมของปฏิสัมพันธ์โมเลกุลที่มีความละเอียดสูง ก็ได้ค้นพบเป็นครั้งแรกถึงเหตุการณ์ดวงดาวที่เพิ่งถือกำเนิดได้หลบหนีจากบ้านเกิด ในบริเวณก่อตัวดวงดาวที่เรียกว่า G352.63-1.07 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้อยกว่า 4,000 ปีก่อน ในบริเวณกลุ่มเมฆโมเลกุลนายพราน ที่เป็นบริเวณกำเนิดดาวทารกในกาแล็กซีทางช้างเผือก.

Credit : National Astronomical Observatories (NAOC)

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่