กลายเป็นกระแสทั่วประเทศเมื่อภาพยนตร์ ไทยเรื่อง “สัปเหร่อ” ของ “ต้องเต” หรือ “ธิติ ศรีนวล” ผู้กำกับภาพยนตร์มาดเซอร์ที่บอกเล่าเรื่องราวสยองขวัญตลกโปกฮาเคล้าน้ำตาผ่านการดำเนินเรื่องด้วยเรื่องราวของสัปเหร่อและความโหยหาบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งลาโลกไปแล้ว

ทำให้หวนนึกถึงภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง “Departures” ที่ออกฉายเมื่อปี 2551 เรื่องราวของชายคนหนึ่งที่สมัครงานในตำแหน่ง “ผู้ช่วยนักเดินทาง” แต่ความจริงแล้วคือ “ผู้ช่วยนักเดินทางสู่โลกหน้า” ทำให้ต้องผันตัวจากนักเชลโลมาเป็น “โนคันชิ” หรือสัปเหร่อ ยังคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 2552 มาครองอีกด้วย ในโอกาสนี้จะขอพามารู้จักกับสัปเหร่อของญี่ปุ่นกันบ้าง

“โนคันชิ” หรือสัปเหร่อของญี่ปุ่น มีหน้าที่ในการแต่งหน้าและแต่งตัวศพ โดยจะเริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดร่างกาย แต่งตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักเลือกสวมใส่ชุดกิโมโนสีขาวให้แก่ผู้วายชนม์ รวมถึงแต่งหน้าเพื่อช่วยให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดราวกับเจ้าของร่างไร้วิญญาณนั้นกำลังอยู่ในห้วงนิทรา หากมีส่วนใดของร่างกายมีบาดแผลฉีกขาดหรือเว้าแหว่งก็จะใช้สำลี หรือแวกซ์พิเศษที่ใช้สำหรับการเสริมแต่งศพโดยเฉพาะ

ในกรณีที่ร่างเริ่มเปื่อยยุ่ยก็จะแต่งเน้นเฉพาะจุดสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคลนั้นเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ไฝ ปาน เป็นต้น เพื่อให้ญาติได้บอกลาบุคคลอันเป็นที่รักเป็นครั้งสุดท้ายอย่างหมดห่วง แม้ว่าท้ายที่สุด ร่างที่แต่งหน้า แต่งตัวด้วยความประณีตจะต้องนำไปฝังหรือเผา เพื่อออกเดินทางสู่ปรโลกก็ตาม ทั้งนี้ การแต่งศพของโนคันชิจะต้องอยู่ในสายตาของครอบครัวญาติ แต่บางขั้นตอนก็ไม่สามารถแสดงให้ญาติเห็นได้ เช่น การเปลือยศพ เนื่องจากต้องรักษาเกียรติของผู้ตายเช่นกัน

...

เดิมทีความตายในสังคมญี่ปุ่นนั้นไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย หากย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 ญี่ปุ่นมีชนชั้นที่เรียกว่า “บุราคุมิน” กล่าวคือ บุคคลชั้นต่ำที่ใช้ชีวิต หรือทำอาชีพที่พัวพันกับความตาย เช่น เพชฌฆาต คนขายเนื้อ สัปเหร่อ โดยถูกมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้แปดเปื้อน เนื่องจากอิทธิพลความเชื่อในศาสนาชินโต ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแยกออกจากสังคม

กระนั้น เมื่อสิ้นสุดระบบศักดินาไปแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ยังคงอยู่แม้จะเหลือน้อยลงก็ตาม ทำให้อาชีพเหล่านี้ รวมถึงสัปเหร่อยังคงถูกมองมาด้วยความไม่เข้าใจอยู่บ้าง ทั้งที่ความเป็นจริง สัปเหร่อมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้การจากลาครั้งสุดท้ายระหว่างคนเป็นกับคนตายจบลงอย่างสมบูรณ์.

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม