- ภารกิจ ‘OSIRIS-REx’ ของนาซาในการส่งยานอวกาศเดินทางไป-กลับ 1.9 พันล้านกิโลเมตร เพื่อเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู ประสบความสำเร็จด้วยดี
- นาซาได้ทุ่มเทกับภารกิจ ‘OSIRIS-REx’ ที่ใช้เวลายาวนานนับ 7 ปี ในการส่งยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยเบนนู เพื่อเก็บตัวอย่างหินกลับมายังโลกเพื่อทำการวิเคราะห์ด้วยวัตถุประสงค์อะไร?
- ดาวเคราะห์น้อยเบนนู อายุ 4.5 พันล้านปี ถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยอันตรายที่สุดในระบบสุริยะ เพราะจากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ‘เบนนู’ มีโอกาสพุ่งชนโลกในอีก 100 กว่าปีข้างหน้า แม้ความเสี่ยงจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม
11 ตุลาคม 2023 เป็นกำหนดวันที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) จะมีการแถลงข่าวใหญ่ เพื่อเปิดเผยผลการตรวจสอบวิเคราะห์ ‘ตัวอย่างฝุ่น’ ที่เก็บมาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู หนึ่งในดาวเคราะห์น้อยอันตรายที่สุดดวงหนึ่งในระบบสุริยะ หลังจากแคปซูลพร้อมตัวอย่างฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู กลับสู่โลก เมื่อ 24 กันยายน ที่ผ่านมา
ภารกิจสำคัญครั้งนี้ของนาซา ชื่อว่า ภารกิจ ‘OSIRIS-REx’ (โอไซริส-เร็กซ์) นับเป็นภารกิจครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของนาซาในการส่งยานอวกาศไร้คนขับเดินทางรอนแรมไปเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นบนดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ไกลแสนไกล และนำมันกลับมายังโลก
แน่นอนว่าคำถามที่พวกเราอยากรู้ก็คือ ภารกิจ ‘OSIRIS-REx’ ของนาซาที่ส่งยานอวกาศไร้คนขับเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยเบนนู เป็นระยะทางไป-กลับ ร่วม 1,900 ล้านกิโลเมตร และภารกิจนี้ใช้เวลายาวนานรวมแล้วถึง 7 ปี มีความสำคัญอย่างไร?
...
ภารกิจ ‘OSIRIS-REx’ ของนาซา
ภารกิจส่งยานอวกาศไปเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู อายุ 4,500 ล้านปี มีชื่อเต็มว่า 'The Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification, Security-Regolith Explorer' หรือเรียกชื่อย่อว่า 'OSIRIS-REx'
นาซาได้ติดตั้งอุปกรณ์สำคัญๆ หลายอย่างบนยานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูปหลายตัว เพื่อใช้ในการเก็บภาพสำคัญๆ ในขณะที่ยาน OSIRIS-REx ปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู
นอกจากนั้นยังได้ติดตั้งอุปกรณ์ในการทำแผนที่สร้างแบบจำลองสามมิติ หรือ 3D maps เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์บนพื้นโลกสร้างแบบจำลองสามมิติจากตัวอย่างภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อยเบนนู เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการลงจอดของยานอวกาศ รวมทั้งยังติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ แผนที่องค์ประกอบแร่และเคมี และการดูด้วยเอกซเรย์และแสงอินฟราเรด
นาซาติดตามภารกิจ 'OSIRIS-REx' ที่ยาวนานนับ 7 ปี
- 8 ก.ย. 2016 นาซาได้ปล่อยจรวดนำยานโอไซริส-เร็กซ์จากรัฐฟลอริดาขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
- ก.ย. 2017 ยานอวกาศ 'OSIRIS-REx' ได้รับความช่วยเหลือจากแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อขับเคลื่อนด้วยตัวเองในการเดินทางไกลไปยังดาวเคราะห์น้อยเบนนูที่อยู่ห่างจากโลก 200 ล้านไมล์
- 3 ธ.ค. 2018 ยานโอไซริส-เร็กซ์เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนู
- ต.ค. 2020 สองปีต่อมา ยานโอไซริส-เร็กซ์ค่อยๆ ร่อนลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยเบนนู โดยมีขาสำหรับยึดเกาะซึ่งติดอยู่ปลายแท่งโลหะที่ยื่นออกไปยาว 3 เมตร และทำการเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย
- พ.ค. 2021 ยานโอไซริส พร้อมแคปซูลบรรจุตัวอย่างฝุ่นหินจากดาวเคราะห์น้อยเดินทางกลับสู่โลก
- 24 ก.ย. 2023 แคปซูลเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูได้แยกตัวจากยานโอไซริส-เร็กซ์ โดยแคปซูลซึ่งได้รับการติดเกราะป้องกันความร้อน ได้พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วมากกว่ากระสุนปืนไรเฟิล 15 เท่า และลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยด้วยร่มชูชีพ บริเวณทะเลทรายในรัฐยูทาห์ ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเมื่อเวลา 08.52 น. ตามเวลาท้องถิ่น
‘ผมร้องไห้ออกมาเหมือนเด็กขณะนั่งอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ เมื่อได้ยินว่าร่มชูชีพกางออกแล้ว เพื่อนำแคปซูลลงสู่พื้นโลกอย่างนุ่มนวล มันเป็นช่วงเวลาแห่งความตื้นตันสำหรับผม เพราะนับเป็นความสำเร็จที่น่าประหลาดใจ’ ศาสตราจารย์ ดันเต ลอเร็ตตา หัวหน้าทีมวิจัยของภารกิจ OSIRIS-REx กล่าวด้วยความรู้สึกตื้นตันเมื่อเห็นภารกิจครั้งนี้ที่ยาวนานถึง 7 ปี ประสบความสำเร็จด้วยดี
จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ของนาซาได้เข้าไปเก็บกู้และนำแคปซูลดังกล่าว ซึ่งถือเป็น ‘กล่องสมบัติล้ำค่าทางวิทยาศาสตร์’ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซา (NASA’s Johnson Space Center) ที่เมืองฮิวส์ตัน รัฐเทกซัส เพื่อเปิดแคปซูล
...
‘เบนนู’ หนึ่งในดาวเคราะห์น้อยอันตรายที่สุดในระบบสุริยะ
ดาวเคราะห์น้อย Bennu ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1999 จัดเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กเท่าภูเขา มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 500 เมตร และมีอายุกว่า 4,500 ล้านปี เดิมนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่าดาวเคราะห์น้อย ‘1999 RQ36’
นักดาราศาสตร์จัดดาวเคราะห์น้อยเบนนูให้เป็น ‘near-Earth object’ (วัตถุใกล้โลก) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่มีโอกาสโคจรเข้าใกล้โลกในระยะ 45 ล้านกิโลเมตร โดยวัตถุจำพวกนี้ยังไม่จัดว่าเป็นวัตถุอันตราย เพืยงแต่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ
แต่ด้วยความที่ ดาวเคราะห์น้อยเบนนู มีวงโคจรที่ขยับเข้ามาใกล้โลกมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะโคจรผ่านโลกทุกๆ 6 ปี จึงทำให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะชนโลกใน 100 กว่าปีข้างหน้า
และจากการคำนวณของเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้คาดประมาณว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนู มีโอกาสเล็กน้อย ที่จะชนโลกในวันที่ 24 ก.ย. 2182
...
หวังไขความลับต้นกำเนิดของชีวิตในระบบสุริยะ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตัวอย่างหินและฝุ่นที่เก็บมาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู จะสามารถช่วยไขคำตอบสำคัญได้ว่า มนุษย์เรามาจากไหน? โดยศาสตราจารย์ดันเต ลอเร็ตตา หัวหน้าทีมวิจัยภารกิจ กล่าวกับบีบีซีว่า เมื่อเราได้ตัวอย่างฝุ่นหินขนาด 250 กรัม จากดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลก เราจะได้เห็นวัตถุที่กำเนิดขึ้นก่อนจะมีโลกของเรา หรืออาจดำรงอยู่ก่อนการกำเนิดของระบบสุริยะเสียอีก
...
นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า ภายใน 10 ล้านปีของการก่อตัวระบบสุริยะ องค์ประกอบทางเคมีและแร่ธาตุบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูได้ก่อตัวขึ้นแล้ว
โดยจากการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวเคราะห์น้อยเบนนู พบว่ามีแร่ธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งคาร์บอนอาจมีบทบาทสำคัญในการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลก ด้วยเหตุนี้ ภารกิจ นำตัวอย่างหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเบนนูมาตรวจสอบ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของแร่ธาตุเหล่านี้บนดาวเคราะห์น้อยเบนนู
นอกจากนั้น ภารกิจ OSIRIS-REx ยังอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ได้มากขึ้นถึงความเสี่ยงระยะยาวที่ดาวเคราะห์น้อยที่จัดเป็นวัตถุใกล้โลก อย่างเช่น เบนนู จะพุ่งชนโลกของเรา
ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยอันตรายหรือไม่?
ความกังวลเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับภารกิจเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยนั้น ก็คือจะเป็นอันตรายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ แฮโรลด์ คอนนอลลี ซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย ROWAN และเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมตรวจสอบตัวอย่างหินในภารกิจ OSIRIS-REx กล่าวกับอัลจาซีราว่า ตัวอย่างที่เก็บมาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูไม่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย
แฮโรลด์ คอนนอลลี ได้เปรียบเทียบภารกิจนี้กับการเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ ในภารกิจ Apollo11 (อพอลโล 11) ว่าตอนนั้นก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับอันตรายของตัวอย่างหินที่เก็บมาจากดวงจันทร์เช่นกัน และหลังจากใช้สัตว์ทดลองทดสอบแร่ธาตุเหล่านั้นว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ ก็พบว่าสัตว์ทดลองปลอดภัยดี
‘ไม่มีเชื้อโรคขนาดเล็กเติบโต และนาซาได้ตัดสินใจว่ามีความปลอดภัยแล้วจึงยุติการทดสอบอันตรายของแร่ธาตุจากดวงจันทร์ ที่อาจเกิดกับสัตว์ทดลอง รวมทั้งยังหยุดกักกันนักบินอวกาศ รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคในห้องแล็บ ซึ่งทำงานกับตัวอย่างที่เก็บมาจากดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 14 ในปี 1971
ไขปมฝุ่นดำปริศนาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู?
หลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซาซึ่งสวมชุดป้องกันเชื้อโรค ได้ทำการเปิดฝาแคปซูลเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู ที่ห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อ ที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันของนาซาเมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา และพบว่ามีฝุ่นสีดำและผงขนาดเท่าทรายอยู่ข้างในกระบอกสีเงินของแคปซูลนั้น ได้ทำให้ชาวโลกกังวลไม่น้อยว่า ฝุ่นสีดำปริศนาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูจะเป็นอันตรายหรือไม่
ในขณะที่นาซาระบุว่า ฝุ่นดำปริศนาเหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อตรวจสอบว่ามันคืออะไร
อย่างไรก็ตาม ดร.แบรด ทัคเกอร์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในกรุงแคนเบอร์รา แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ฝุ่นละเอียดเหล่านี้ดูเหมือนมาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู เพราะฝุ่นดาวเคราะห์น้อยสีดำมาก และมีความละเอียด อีกทั้งเมื่อตอนยาน OSIRIS-REx ปฏิบัติการเก็บตัวอย่างหินและฝุ่นนั้น ส่วนมากแล้ว ฝากระบอกไม่เปิด
ในขณะที่นาซาออกแถลงการณ์ยอมรับสั้นๆ เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ว่า มีวัตถุที่เก็บจากผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนูรั่วออกมา เพราะมีหินหนึ่งก้อนติดในเครื่อง
ด้านศาสตราจารย์เทรเวอร์ ไอร์แลนด์ นักธรณีเคมีประจำมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า ฝุ่นดำปริศนาที่พบในกระบอกของแคปซูลนั้นลอยฟุ้งขึ้นมาระหว่างการเก็บตัวอย่างหิน
‘ภายใต้แรงโน้มถ่วงน้อยนิด ไม่มีอะไรหยุดยั้งฝุ่นที่จะลอยฟุ้งไปทุกหนทุกแห่ง และบางทีฝุ่นก็ติดมากับยานอวกาศด้วย’
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์