จีนขอต่อต้านอย่างแข็งขัน และตำหนิเรื่องนี้อย่างรุนแรง พร้อมได้ยื่นคำร้องต่อฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อเรียกร้องให้ยุติการกระทำที่มิชอบ หลังจากญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ในวันที่ 24 ส.ค.2566
รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพของชาวจีน การกำจัดน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ผลกระทบของน้ำนั้น ไปไกลเกินขอบเขตของญี่ปุ่น และปัญหานี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวสำหรับญี่ปุ่น การบังคับให้เริ่มการปล่อยลงมหาสมุทรถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะทั่วโลก
ถือเป็นแถลงการณ์แสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นจากรัฐบาลจีนที่แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมของญี่ปุ่นที่กำลังทยอยปล่อยน้ำบำบัดปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี “ทริเทียม” ลงสู่ทะเลแปซิฟิก ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะใช้เวลากว่า 30 ปี ในการระบายน้ำบำบัดกว่า 1.34 ล้านตันให้เสร็จสิ้น
และแน่นอนว่า งานนี้ไม่ได้ขู่ลอยๆ เพราะเพียง 1 วันหลังบริษัทพลังงานเทปโกญี่ปุ่นเริ่มเปิดท่อ ทางการจีนก็ประกาศใช้มาตรการขั้นรุนแรง สั่งระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเล “ทุกประเภท” จากญี่ปุ่น รวมถึงฮ่องกงเขตบริหารพิเศษที่สั่งระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดในพื้นที่ฟุกุชิมะจำนวน 10 จังหวัด รวมกรุงโตเกียว
ปรากฏภาพข่าวชาวบ้านแห่กันไปต่อคิวร้านอาหารญี่ปุ่น หวังรีบรับประทานปลาญี่ปุ่นให้เต็มคราบ เพราะหลังจากนี้เชื่อว่าจะไม่ได้กินอาหารทะเลสดใหม่ส่งตรงทางอากาศจากแดนอาทิตย์อุทัยอีกต่อไป
สถานการณ์ยังลุกลามบานปลายไปยังหุ้นส่วนเกาหลีใต้ที่กำลังกลับมามีสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านบุกชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล ขณะที่รัฐบาลโสมขาวก็ประกาศว่าจะดำเนินการตรวจสอบน้ำทะเลและอาหารทะเลท้องถิ่นว่าได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่
...
การปล่อยน้ำบำบัดปนเปื้อนกัมมันตรังสีครั้งนี้ ทางญี่ปุ่นพยายามสร้างความเชื่อมั่นมานานแสนนานว่า จะไม่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เนื่องด้วยค่าปนเปื้อนอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เมื่อเทียบกับเพดานมาตรฐานความปลอดภัยของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และทางไอเออีเอก็ตรวจสอบแผนการปล่อยน้ำบำบัดแล้วว่ามีความรัดกุม พร้อมให้สัญญาณไฟเขียวแก่ญี่ปุ่นไปตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งหากดูจากค่าสถิติการปนเปื้อนถือว่าเป็นตัวเลขดีกว่าที่เราอยู่กันอย่างทุกวันนี้ เพราะค่าน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอื่นๆถือว่าสูงกว่าตัวเลขปนเปื้อนในน้ำบำบัดของญี่ปุ่น และการปล่อยน้ำครั้งนี้ไม่ใช่การเทลงทะเลรวดเดียว จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มวลน้ำทะเลอันมหาศาลมีเวลา “เจือจาง” สารปนเปื้อน จนอยู่ในระดับที่ร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดไปได้เองผ่านการดื่มน้ำ
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยคนเรามีความเข้าใจในแง่ลบกับสารกัมมันตรังสีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เหตุการณ์สหรัฐฯทิ้ง “ระเบิดนิวเคลียร์” ใส่ฮิโรชิมะ-นางาซากิ เมื่อ 78 ปีก่อน ไปจนถึงวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” ของสหภาพโซเวียต เมื่อ 37 ปีก่อน มองว่าเป็นความตายแบบผ่อนส่ง เป็นผลกระทบแบบทิ้งช่วง ไม่ทันทีทันใด จึงทำให้ยากที่ขจัดภาพดังกล่าวออกไปได้โดยง่าย
แม้ว่าญี่ปุ่นพยายามจะทำภาพประกอบอินโฟกราฟิกให้เข้าใจง่ายว่า ต้องดื่มน้ำปนเปื้อนเป็นจำนวนมากมายหลายลิตร ถึงจะเท่ากับการรับการรักษาด้วยรังสีในโรงพยาบาล 1 ครั้ง หรือเท่ากับการนั่งเครื่องบินกรุงโตเกียว-นิวยอร์กกี่รอบ หรือทุกวันนี้เรารับสารเคมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสารพัดอย่าง หรือในเรื่องของกระแสน้ำบริเวณฟุกุชิมะที่จะไหลไปทางอเมริกาเหนือไม่ใช่ลงมาเอเชีย
แต่สุดท้ายแล้วพอเป็นเรื่อง “รังสี” คนก็ย่อมเลือกที่จะ “ไม่เสี่ยง” อยู่วันยังค่ำ ความกังวลของประชาชนในประเทศอื่นๆ จึงย่อมเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ตราบใดที่การ “ปนเปื้อน” มันมีอยู่จริง และกระบวนการระบายน้ำบำบัดยังไม่เสร็จสิ้น
สำหรับประเทศไทยมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่นสูง นำเข้าสินค้าทางทะเลของฟุกุชิมะมาตั้งแต่ปี 2561 และปัจจุบันนี้ ก็ปลดล็อกมาตรการระงับต่างๆไปหมดแล้ว เนื่องด้วยมีการวางกลไกตรวจสอบทางสาธารณสุขไว้อย่างเหมาะสม ของที่ถูกส่งมาจะต้องผ่านการตรวจจากญี่ปุ่น แล้วไทยจึงมาสุ่มตรวจซ้ำอีกรอบว่ามีอัตราการปนเปื้อนอะไรที่น่าตกอกตกใจหรือไม่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร
แต่หลังเห็นข่าวสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ขอวิพากษ์วิจารณ์กันบ้าง ในฐานะที่ส่วนตัวเคยลงพื้นที่จังหวัดฟุกุชิมะไปสัมผัสบรรยากาศ รับฟังบรรยาย ดูงานมาตรฐานความปลอดภัยจากหน่วยงานท้องถิ่นยันระดับกระทรวง ว่าการที่นายคิชิดะ ฟุมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นั่งรับประทานปลาดิบจากฟุกุชิมะ ถือเป็นเรื่องที่หน่อมแน้มเกินไป
หากจะเอาให้ดีก็จัดอีเวนต์ให้เหมาะสม ใส่ความบู๊แบบลูกทุ่งลงไป จับปลาสดๆจากทะเลมารับประทานกันในพื้นที่ให้เห็นกันไปเลยว่าโอเคปลอดภัยจริง นั่งห้องแอร์กินปลาจากฟุกุชิมะมันดูห่างเหินเกินไป และก่อให้เกิดคำถามด้วยว่า สิ่งที่ทานเอามาจากฟุกุชิมะจริงหรือเปล่า?
...
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม