แมงมุมเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังแหล่งน้ำเพื่อดื่มกินน้ำ เพราะใยของมันถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม ที่ทำให้มันมีน้ำดื่มกินตลอดเวลา เนื่องจากใยแมงมุมจะดักจับความชื้นจากอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับแมลงปีกแข็งในทะเลทรายนามิบ ในทวีปแอฟริกา ที่ได้รับน้ำจากอากาศเบาบาง โดยการลู่ตัวไปกับลมเพื่อจับหยดน้ำจากหมอก เพราะร่างกายมีพื้นผิวเหมือนเกราะ ทำให้สะสมความชื้นเป็นหยดน้ำเข้าปากของแมลง
โครงสร้างพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์ของแมลงปีกแข็งและใยแมงมุมกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ในแคนาดา คิดค้นระบบจับไอน้ำในอากาศและเปลี่ยนให้เป็นของเหลว ใช้ส่วนประกอบของขี้ผึ้งที่มีความเสถียรของเซลลูโลส เพื่อสร้างพื้นผิวที่ดึงดูดหยดน้ำขนาดเล็ก ขณะเดียวกันก็ปล่อยหยดน้ำขนาดใหญ่ออกมาได้รวดเร็ว วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เช่น วัสดุธรรมชาติและจากพืช สิ่งเหล่านี้จะนำไปพัฒนาสร้างฟองน้ำหรือเยื่อหุ้มที่มีพื้นที่ผิวขนาดใหญ่ ให้ดูดซับความชื้นจากสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างต่อเนื่อง
ทีมยังพัฒนาระบบการระเหยด้วยแสงอาทิตย์ และการเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง ในอนาคตเราอาจมีระบบผลิตน้ำจืดที่มีราคาไม่แพง ช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายร้ายแรงเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำจืด.