การศึกษาซากซุปเปอร์โนวามีความสำคัญต่อการศึกษาทางดาราศาสตร์ เพราะพวกมันมีบทบาทอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการของดาราจักรหรือกาแล็กซี การกระจายองค์ประกอบหนักที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของซุปเปอร์โนวาได้ให้พลังงานที่จำเป็นต่อการให้ความร้อนแก่ตัวกลางระหว่างดวงดาว เชื่อกันว่าซากซุปเปอร์โนวาที่เรียกว่า Galactic supernova remnant หรือ SNR มีส่วนต่อความเร่งของรังสีคอสมิกในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่ถูกอธิบายว่าเป็นรังสีพลังงานสูงอย่างมาก ส่วนใหญ่ กำเนิดนอกระบบสุริยะ อนุภาคของมันถูกเร่งให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง โดยพุ่งเข้าชนชั้นบรรยากาศของโลกในทุกทิศทุกทางตลอดเวลา
ล่าสุด ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซิดนีย์ ในออสเตรเลีย รายงานการค้นพบซากซุปเปอร์โนวา SNR แห่งใหม่ที่อยู่ใกล้เคียงทางช้างเผือก จากการใช้เสาอากาศของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแอสแคป (Australian Square Kilometer Array Pathfinder-ASKAP) ที่อยู่ในเขตชนบทห่างไกลของออสเตรเลีย ซากซุปเปอร์โนวา SNR ที่พบใหม่นี้มีอายุประมาณ 13,000 ปี ได้รับการตั้งชื่อว่า Galactic SNR G288.8-6.3 ทีมเผยว่า SNR G288.8-6.3 มีขนาดที่แท้จริงราว 130 ปีแสง เศษซากของมันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 4,200 ปีแสง ถือเป็นซากซุปเปอร์โนวาที่ใหญ่ที่สุดและใกล้เคียงทางช้างเผือกที่สุดแห่งหนึ่ง
ทีมนักดาราศาสตร์ยังพบว่าการบีบอัดแรงสั่นสะเทือนของสนามแม่เหล็กใน SNR G288.8-6.3 นั้นเพียงพอที่จะสร้างสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ และอาจอธิบายถึงการปล่อยแสงซินโครตรอน หรือแสงที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากอิเล็กตรอนที่เลี้ยวโค้งด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสงได้.
Credit : NASA/JPL-Caltech/SAO