“เพชร” มีอายุหลายร้อยล้านหรือหลายพันล้านปีและก่อตัวขึ้นภายใต้แรงกดดันมหาศาล มักพบในหินอัคนีชนิดหนึ่งที่ชื่อคิมเบอร์ไลท์ (kimberlite) โดยจะพบในพื้นที่เก่าแก่ที่สุด หนาที่สุด และแข็งแกร่งที่สุดของทวีป เช่น ในแอฟริกาใต้ แหล่งที่ขุดค้นหาเพชรที่เลื่องชื่อมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19

แต่นักวิทยาศาสตร์มีความสงสัยมานานแล้วว่า อัญมณีล้ำค่าพวกนี้ปะทุขึ้นสู่พื้นผิวโลกจากด้านล่างที่มันก่อตัวได้อย่างไร ล่าสุดทีมนักวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์โลก แห่งมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน ในอังกฤษ เผยว่า การแตกตัวของแผ่นเปลือกโลกเป็นแรงผลักดันหลักต่อการสร้างและการปะทุของหินที่อุดมด้วยเพชรจากส่วนลึกภายในโลก หลังตรวจสอบผลกระทบของแรงเคลื่อนเปลือกโลกต่อการปะทุของภูเขาไฟในช่วงหลายพันล้านปีที่ผ่านมา และยังใช้การวิเคราะห์ทางสถิติ ทั้งการเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างการแตกตัวของทวีปสมัยโบราณ กับการก่อตัวของหินคิมเบอร์ไลท์

ผลวิจัยพบว่า การปะทุของภูเขาไฟที่มีคิมเบอร์ไลท์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้น 20-30 ล้านปีหลังจากการแตกตัวของเปลือกโลกในทวีปต่างๆ และจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ก็พบว่า การปะทุของคิมเบอร์ไลท์มีแนวโน้มที่จะค่อยๆเคลื่อนตัวจากขอบทวีปเข้าไปยังด้านในเมื่อเวลาผ่านไปในอัตราที่สอดคล้องกันทั่วทั้งทวีป ทีมวิจัยเชื่อว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการปะทุของคิมเบอร์ไลท์จะช่วยค้นหาตำแหน่งและเวลาของการปะทุของภูเขาไฟในอดีต ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการระบุตำแหน่งแหล่งสะสมของเพชร.