โดยทั่วไปแล้ว ดาวเทียมที่ปลดระวางการใช้งานมักจะถูกเผาไหม้เมื่อร่วงกลับสู่โลก แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนองค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ รายงานว่าดาวเทียมเอโอลัส (Aeolus) น้ำหนัก 1,360 กิโลกรัม ที่ใช้ทำแผนที่ลมของโลกจากอวกาศและโคจรรอบโลกเป็นเวลา 5 ปีได้หวนกลับสู่พื้นโลกสำเร็จ หลังได้รับการช่วยเหลือที่ออกแบบมาอย่างละเอียดอ่อนเพื่อให้ลดความเสียหายในหลายๆอย่างที่จะมาจากเศษซากของดาวเทียม และนับเป็นครั้งแรกที่หน่วยควบคุมภารกิจของอีเอสเอได้พยายามช่วยให้ดาวเทียมดวงนี้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

นักวิทยาศาสตร์อีเอสเอเผยได้ตัดสินใจใช้เชื้อเพลิงของดาวเทียมเอโอลัสที่เหลืออยู่น้อยนิด ในการช่วยให้มันไม่เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ และตกสู่มหาสมุทรในแอนตาร์กติกาแบบปลอดภัย โดยเริ่มจากเมื่อ 24 ก.ค.ดาวเทียมตกลงจากวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit-SSO) ที่ระดับความสูง 320 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก มาอยู่ที่ความสูง 280 กิโลเมตร เครื่องยนต์ของดาวเทียมมีการเผาไหม้ 2 ครั้ง กินเวลารวมราว 38 นาที สิ่งนี้ทำให้ระดับความสูงของดาวเทียมลดลง 250 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ต่อมา 27 ก.ค. ดาวเทียมได้เผาไหม้เครื่องยนต์อีก 4 ครั้ง ลดระดับวงโคจรลงไปที่ความสูง 150 กิโลเมตร และในวันที่ 28 ก.ค. ดาวเทียมได้รับคำสั่งครั้งสุดท้ายจากการควบคุมภาคพื้นดิน ส่งผลให้มันเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในราว 5 ชั่วโมงต่อมาและเริ่มเผาไหม้โดยไม่เป็นอันตราย

ดาวเทียมเอโอลัส ตั้งชื่อตามผู้พิทักษ์แห่งลมในตำนานเทพเจ้าของกรีก ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อ 22 ส.ค. 2561 ด้วยจรวด Vega จากศูนย์อวกาศคูรู ในเฟรนช์กิอานา เพื่อวัดรูปแบบลมของโลก และปรับปรุงการพยากรณ์อากาศในระยะสั้น เพื่อช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น.

...

(Credit : ESA)