ชาวประมงจังหวัดฟุกุชิมะ ชูธงค้านญี่ปุ่นปล่อย ‘น้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสี’ ลงทะเล ถึงแม้ IAEA อ้างแผนการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่น “ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลที่เห็นพ้องต้องกัน”
เมื่อ 12 ก.ค. 2566 สำนักข่าวเกียวโด นิวส์ (Kyodo News) ในญี่ปุ่น รายงานว่า บรรดาสมาคมประมงในจังหวัดฟุกุชิมะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ยังคงคัดค้านแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ท้องทะเล แม้ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รับรองความปลอดภัยของแผนการดังกล่าวแล้ว
นายยาสุโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น แถลงต่อสมาพันธ์สหกรณ์ประมงจังหวัดฟุกุชิมะ เกี่ยวกับรายงานฉบับล่าสุดจากทบวงฯ ว่าด้วยแผนการปล่อยน้ำเสีย เพื่อพยายามสร้างความเข้าใจ ขณะญี่ปุ่นตั้งเป้าเริ่มปล่อยน้ำเสียราวช่วงฤดูร้อนปีนี้ โดยรายงานฉบับสุดท้ายจากทบวงฯ ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน อ้างว่าแผนการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่น “ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลที่เห็นพ้องต้องกัน”
ด้านเท็ตสึ โนซากิ ผู้อำนวยการสมาพันธ์สหกรณ์ประมงจังหวัดฟุกุชิมะ กล่าวกับนิชิมูระในที่ประชุมว่า จุดยืนพื้นฐานของสมาพันธ์ฯ คือการคัดค้านการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น และบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือ “เทปโก” (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฯ ให้คำมั่นกับชาวประมงท้องถิ่นในปี 2015 ว่าจะไม่ดำเนินการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลโดยไม่ทำ “ความเข้าใจ” ร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.
รวมข่าวต่างประเทศ ‘ญี่ปุ่น’
...
ข้อมูล-ภาพ : Xinhua