รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศส่งอาวุธ คลัสเตอร์บอมบ์ ไปให้ยูเครนแล้ว ไม่สนเสียงวิจารณ์ ในขณะที่กว่า 100 ประเทศร่วมลงนามตกลงห้ามใช้อาวุธสุดโหดชนิดนี้
เมื่อ 8 ก.ค. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ ไม่หวั่นเสียงวิจารณ์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นว่า สหรัฐฯ จะส่ง 'คลัสเตอร์บอมบ์' หรือระเบิดลูกปราย ไปให้ยูเครนเพื่อใช้ในปฏิบัติการโต้กลับการยึดครองพื้นที่ของรัสเซีย หลังจากก่อนหน้านี้สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจที่จะส่ง คลัสเตอร์บอมบ์ อาวุธสุดโหดที่กว่า 100 ประเทศห้ามใช้ ไปให้แก่ยูเครน

...
กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายแห่งและเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้ตั้งคำถามต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประกาศจะส่งแพ็กเกจความช่วยเหลือด้านความมั่นคงรอบใหม่ งบประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ไปให้แก่ยูเครน ซึ่งรวมถึง คลัสเตอร์บอมบ์ด้วย จนทำให้ขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มงบประมาณทางทหารช่วยยูเครนต่อสู้กับรัสเซีย นับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 รวมเป็นเงินถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทแล้ว (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 35 บาท)
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งเรียกการส่งกำลังทหารรัสเซียทำสงครามในยูเครนว่า 'ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร' เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัสเซียนั้น ได้กล่าวมาตลอดว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกำลังทำ 'สงครามตัวแทน' ผ่านการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนสู้กับรัสเซีย
ทั้งนี้ คลัสเตอร์บอมบ์ หรือระเบิดลูกปราย เป็นอาวุธที่กว่า 100 ประเทศได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการคลัสเตอร์บอมบ์ ทั้ง ห้ามผลิต, ห้ามเก็บสะสม, ห้ามใช้ และห้ามขนย้ายคลัสเตอร์บอมบ์ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน ไม่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่ารัฐบาลยูเครนได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองว่าจะใช้อาวุธคลัสเตอร์บอมบ์ ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อพลเรือนให้น้อยที่สุด
ส่วนประธานาธิบดีไบเดนชี้แจงการตัดสินใจส่งคลัสเตอร์บอมบ์ไปให้ยูเครนว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็บอกว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้อาวุธเหล่านี้
อ่านข่าวต่างประเทศได้ที่นี่ :https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : Reuters