- หลายฝ่ายกำลังระดมกำลังเร่งค้นหาเรือดำน้ำไททันพร้อมลูกเรือ 5 คน ที่ขาดการติดต่อและสูญหายไป ขณะดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิกเมื่อวันอาทิตย์ โดยยังไม่ทราบชะตากรรม
- หน่วยยามฝั่งประมาณการว่าเรือดำน้ำน่าจะมีออกซิเจนฉุกเฉินที่เหลือไว้ใช้งานได้ราว 70-96 ชั่วโมงนับตั้งแต่ 17.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่นของวันจันทร์ที่ผ่านมา
- เรือดำน้ำลำนี้เป็นของบริษัทโอเชียนเกต ได้เริ่มดำลงไปเพื่อสำรวจเรือไททานิกเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนจะขาดการติดต่อไปหลังผ่านไปราว 1 ชั่วโมง 45 นาที
นับเป็นปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ หลังจากที่เรือดำน้ำไททัน ที่นำนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก 5 คน ดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิกขาดการติดต่อไปนานกว่า 24 ชั่วโมง โดยเรือดำน้ำขาดการติดต่อกับเรือไททัน ซับ หลังจากที่ดำลงไปได้ราว 1 ชั่วโมง 45 นาที ในขณะที่หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ คาดว่า เรือดำน้ำไททัน จะเหลือออกซิเจนฉุกเฉินไว้ใช้งานได้นานราว 70-96 ชั่วโมงนับจากเวลา 17.00 น.ของวันจันทร์ ตามเวลาของนครนิวยอร์ก หรือราว 04.00 น.ของวันนี้ตามเวลาในไทย โดยทางบริษัทโอเชียนเกต เจ้าของเรือดำน้ำดังกล่าวระบุว่า พวกเขาจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อนำลูกเรือทั้งหมดกลับมาอย่างปลอดภัย โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาร่วมปฏิบัติการกู้ภัยในครั้งนี้ด้วย

...
ความคืบหน้าในการกู้ภัยล่าสุด
มีรายงานว่าเรือดำน้ำไททัน ได้เข้าใกล้จุดอับปางของซากเรือไททานิกในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยนายฮามิช ฮาร์ดดิง มหาเศรษฐีพันล้านวัย 58 ปี และนักสำรวจชาวอังกฤษผู้ที่อยู่บนเรือไททัน มีการโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า พวกเขาน่าจะเริ่มดำลงไปในช่วงเวลาประมาณ 04.00 น.ตามเวลาในท้องถิ่น
ด้านหน่วยยามฝั่งบอสตัน ที่เป็นผู้นำในปฏิบัติการค้นหาครั้งนี้ระบุทางทวิตเตอร์ว่า ลูกเรือทั้ง 5 คน ดำลงไปใต้ทะเลพร้อมกับเรือดำน้ำในช่วงเช้าวันอาทิตย์ และก็ขาดการติดต่อไปหลังจากเริ่มดำลงไปได้ราว 1 ชั่วโมง 45 นาที โดยในขณะนั้นเรือดำน้ำไททัน อยู่ห่างจากชายฝั่ง เคป คิดราว 1,450 กิโลเมตร
พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ระบุเมื่อวันจันทร์ว่า ปฏิบัติการค้นหาในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากโดยการค้นหาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการค้นหาบริเวณผิวน้ำ ในกรณีที่เรือขึ้นมาสู่ผิวน้ำแล้ว แต่อาจจะขาดการติดต่อ และอีกส่วนหนึ่งคือการใช้โซนาร์ค้นหาใต้น้ำ

โดยขณะนี้หน่วยยามฝั่งได้ส่งเครื่องบิน C-130 เฮอร์คิวลิส เพื่อค้นหาเรือดำน้ำที่อาจจะลอยขึ้นมาสู่ผิวน้ำแล้ว ร่วมกับเครื่องบิน C-130 ของแคนาดา และเครื่องบิน P8 ที่มีอุปกรณ์โซนาร์ใต้น้ำด้วย ซึ่งถ้าหากมีการพบเรือดำน้ำบริเวณใต้น้ำจริง อาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในปฏิบัติการช่วยเหลือต่อไป โดยขณะนี้ หน่วยยามฝั่งแคนาดาก็ส่งเรือ โคพิท ฮอบสันมาช่วยในปฏิบัติการค้นหาด้วยเช่นกัน

ใครอยู่ในเรือดำน้ำบ้าง?
ในจำนวนนักเดินทาง 5 คน ที่อยู่บนเรือดำน้ำไททัน เพิ่งมีการยืนยันชื่ออย่างเป็นทางการเพียงคนเดียว คือนายฮามิช ฮาร์ดดิง มหาเศรษฐีพันล้าน และนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 59 ปี โดยเขาเคยประกาศจะร่วมทีมสำรวจนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และเคยระบุว่า บนเรือจะมีนักสำรวจระดับตำนาน 2-3 คน โดยบางคนเคยมีประสบการณ์ในการดำน้ำสำรวจไททานิกมาแล้วมากกว่า 30 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1980 ขณะที่บริษัทของนายฮาร์ดิ้งมีการทวีตข้อความก่อนหน้านี้ว่า นายฮามิชกำลังร่วมเดินทางไปกับเรือดำน้ำนี้ และการปล่อยเรือประสบความสำเร็จด้วยดี ส่วนรายชื่อสมาชิกคนอื่นๆ บนเรือ ทางหน่วยยามฝั่งขอยังไม่เปิดเผย เนื่องจากเคารพสิทธิของครอบครัวของแต่ละคน

...
เรือดำน้ำลำนี้ลงไปทำอะไร?
บริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์เพดิชันส์ คิดค่าบริการนักสำรวจแต่ละคน เป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 8,678,000 บาท สำหรับทริปการเดินทางสำรวจเรือไททานิกเป็นเวลา 8 วัน โดยซากเรือไททานิกที่อับปางจมอยู่ก้นทะเลลึกราว 3,800 เมตร ห่างจากชายฝั่งของนิวฟันด์แลนด์ราว 600 กิโลเมตร โดยซากเรือแยกออกเป็นสองส่วน ห่างกันราว 800 เมตร
เว็บไซต์ของบริษัทเรือดำน้ำลำดังกล่าวระบุข้อมูลว่าการจะดำลงไปจนถึงซากเรือไททานิกได้และกลับขึ้นมา จะต้องใช้เวลารวมถึง 8 ชั่วโมง และการสำรวจแต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 วัน

ข้อมูลเกี่ยวกับเรือดำน้ำไททัน
เรือดำน้ำไททันสามารถจุคนได้ 5 คน โดยสามารถดำน้ำลงไปได้ลึกถึง 4,000 เมตรโดยจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3 นอต หรือราว 3.5 ไมล์ต่อชั่วโมง
นอกจากเรือดำน้ำลำนี้จะใช้สำหรับดำลงไปสำรวจซากเรือไททานิกแล้ว ยังใช้เพื่อการสำรวจ ตรวจสอบ วิจัยและเก็บข้อมูล รวมทั้งใช้ถ่ายทำคลิปสำหรับการผลิตสื่อด้วย นอกจากนี้ก็ยังใช้ในการทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใต้ท้องทะเลลึก
...
ข้อมูลจากบริษัทโอเชียนเกตยังระบุด้วยว่า เรือดำน้ำไททัน มีระบบไฟล้ำสมัยและระบบนำทางโซนาร์ พร้อมทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอ ทั้งภายในและภายนอกแบบ 4K และจะสามารถมอนิเตอร์รอบตัวเรือได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีระบบวิเคราะห์สุขภาพของคนบนเรือ เพื่อแจ้งเตือนกัปตันเรือล่วงหน้าให้สามารถกะระยะเวลาในการนำเรือดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย

ด้าน เดวิด โพกิว ผู้สื่อข่าวสถานีข่าวซีบีเอส ที่เคยโดยสารเรือดำน้ำลำนี้เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้โดยสารเรือดำน้ำ จะรอดออกมาเองได้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ โดยเรือดำน้ำลำนี้เหมือนเรือที่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ไม่ได้มีการอนุมัติหรือรับรองความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะทำให้คนภายในเรือได้รับบาดเจ็บรุนแรง หรือถึงแก่ชีวิตได้ โดยในเวลานั้น นาย สต็อกตัน รัช ซีอีโอของโอเชียนเกตเคยเปิดเผยกับเขาว่า เรือดำน้ำมีปุ่มบังคับเพียงอันเดียว โดยใช้ตัวคอนโทรลของวิดีโอเกมเท่านั้น ชะตากรรมของคนบนเรือจะเป็นเช่นไร จึงต้องขึ้นอยู่กับปุ่มบังคับและโชคที่จะเข้าข้างพวกเขา.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : บีบีซี