กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) พบสารอินทรีย์ที่ในกาแล็กซีห่างไกลที่สุดจากโลกถึง 12,000 ล้านปีแสงเป็นครั้งแรก

เมื่อ 7 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าในแวดวงดาราศาสตร์ว่า นักดาราศาสตร์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) สามารถตรวจจับสารอินทรีย์ได้เป็นครั้งแรก ในกาแล็กซี หรือดาราจักร ที่อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางกว่า 12,000 ล้านปีแสง ซึ่งถูกเรียกว่ากาแล็กซี ‘SPT0418-47’

การค้นพบครั้งนี้ของกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ซึ่งถือเป็นการวิเคราะห์โมเลกุลของสสารที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยมี เป็นการช่วยอธิบายให้เห็นถึงปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นในกาแล็กซีที่เกิดขึ้นมาเก่าแก่เนิ่นนานที่สุด และยังอธิบายให้เห็นถึงวิธีการที่ปฏิกิริยาเคมีเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการก่อตัวของดวงดาวได้อย่างไร

สารอินทรีย์เชิงซ้อน ที่พบในกาแล็กซี ‘SPT0418-47’ นั้น เมื่ออยู่บนโลก โมเลกุลเชิงซ้อนเหล่านี้ มีชื่อว่า Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน) หรือ PAHs ซึ่งพบได้ในฝุ่น ควัน เขม่า หมอกควัน ไอเสียจากรถยนต์ และไฟป่า โดยพื้นฐานของโมเลกุลนี้คือธาตุคาร์บอน ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นธาตุสำคัญของกรดอะมิโนที่ใช้สร้างโปรตีน

แสงจากกาแล็กซีที่เต็มไปด้วยฝุ่น เริ่มเดินทางผ่านจักรวาล ขณะที่กาแล็กซี ‘SPT0418-47’ มีอายุน้อยกว่า 1,500 ล้านปี หรือมีอายุเพียงแค่ 10% ของอายุในปัจจุบันนี้ ที่มีอายุถึง 13,800 ล้านปี

ก่อนหน้านี้ กาแล็กซี ‘SPT0418-47’ ถูกพบครั้งแรกโดยกล้องโทรทรรศน์ที่ South Pole ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี 2556 จากนั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าสังเกตกาแล็กซีดังกล่าว โดยกล้องโทรทรรศน์ อย่าง กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล และ กล้องโทรทรรศน์อาร์เรย์ในชิลี

...

แต่ด้วยประสิทธิภาพของแสงอินฟราเรดจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ที่สามารถจับแสงที่มองเห็นได้ด้วยตามนุษย์และมองเข้าไปในฝุ่นจักรวาล จึงทำให้สามารถพบรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับกาแล็กซีนี้ 

ด้านจัสติน สปิลเกอร์ หัวหน้านักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Texas A&M (เท็กซัส เอแอนด์เอ็ม) ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า โมเลกุลที่ค้นพบในกาแล็กซี ‘SPT0418-47’ นั้นไม่ใช่โมเลกุลง่ายๆ อย่างน้ำ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เป็นการพบโมเลกุลเชิงซ้อนที่ประกอบด้วยอะตอมหลายร้อยอะตอมเลยทีเดียว.

ที่มา: CNNSpace
Cr ภาพ: NASA Webb Telescope