ผู้นำชุมชนท้องถิ่นในเมียนมา เผยยอดผู้เสียชีวิตเพราะพายุไซโคลนโมคา เพิ่มเป็นอย่างน้อย 81 ศพแล้ว ในขณะที่ชาวโรฮีนจาตัดพ้อว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากอิทธิพลของพายุไซโคลน ‘โมคา’ ในประเทศเมียนมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 81 ศพแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่ ในขณะที่ผู้คนพยายามซ่อมแซมบ้านเรือนที่พังเสียหาย ฝังศพบุคคลอันเป็นที่รัก และรอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากรัฐบาล
ไซโคลนโมคา เคลื่อนตัวเข้าสู่บังกลาเทศและเมียนมาในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ในฐานะพายุระดับ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด มีความเร็วลมมากถึง 195 กม./ชม. ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก ลมกระโชกแรง ฉีกทึ้งทำลายบ้านเรือน และทำให้ต้นไม้หักโค่นจำนวนมาก กีดขวางการจราจร ล้มเสาสัญญาณ ทำให้การสื่อสารล่มเกือบทั้งรัฐ
ตามการเปิดเผยของผู้นำชุมชนท้องถิ่น พบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ศพ ที่หมู่บ้านบูมา (Bu Ma) และอีก 24 ศพ ที่หมู่บ้านขวงดอกการ์ (Khaung Doke Kar) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซิตตเว และเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา ผู้ถูกรัฐบาลทหารเมียนมากีดกันอย่างหนัก
นายคาร์โล หัวหน้าหมู่บ้านบูมา กล่าวว่า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก และยังมีผู้สูญหายอีกนับ 100 คน ในขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ ออกมาเดินตามชายฝั่งทะเล เพื่อค้นหาสมาชิกครอบครัวที่ถูกคลื่นพายุหนุนซัดฝั่ง หรือสตอร์มเซิร์จ ซึ่งมาพร้อมกับไต้ฝุ่น พัดพาหายไป
สำหรับชาวโรฮีนจา พวกเขาถูกรัฐบาลทหารเมียนมามองว่าเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในประเทศ ทำให้ถูกปฏิเสธความเป็นพลเรือนและการเข้าถึงการดูแลด้านสาธารณสุข นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการ หากต้องการเดินทางออกจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ด้วย
...
ชาวโรฮีนจาจำนวนมากในเมียนมาอาศัยอยู่ในแคมป์ชั่วคราว หลังจากกลายเป็นผู้พลัดถิ่น เนื่องจากเหตุความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์นานหลายทศวรรษภายในรัฐยะไข่
กองทัพเมียนมาระบุจำนวนผู้เสียชีวิต เพราะไต้ฝุ่นโมคาไว้ที่ 21 ศพทั่วประเทศ แต่ไม่แน่ชัดว่าพวกเขานับรวมผู้เสียชีวิตที่หมู่บ้านของชาวโรฮีนจา อย่างบูมากับขวงดอกการ์ แล้วหรือไม่ ซึ่งสำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติระบุว่า พวกเขากำลังสืบสวนรายงานที่ว่า มีชาวโรฮีนจาที่แคมป์อพยพเสียชีวิตเพราะพายุ
ในวันอังคารที่ 16 พ.ค. สถานการณ์ในเมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู ชาวบ้านช่วยกันทำความสะอาดถนน อินเทอร์เน็ตกลับมาเชื่อมต่อได้อีกครั้ง สื่อของรัฐบาลเผยแพร่ภาพสิ่งของช่วยเหลือต่างๆ กำลังถูกบรรจุลงเรือที่ท่าเรือของนครย่างกุ้ง ระบุว่า กำลังจะส่งไปรัฐยะไข่
แต่ชาวโรฮีนจาในหมู่บ้านบูมา ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือใดๆ เข้ามาเลย
“ไม่มีรัฐบาล ไม่มีองค์กรเข้ามาที่หมู่บ้านของเราเลย” นายจอ สวาร์ วิน อายุ 38 ปี จากหมู่บ้านบูมา กล่าว “เราไม่ได้กินอะไรมา 2 วันแล้ว ... เรายังไม่ได้ความช่วยเหลือใดๆ เลย และฉันบอกได้อย่างเดียวว่า ไม่มีใครมาถามสารทุกข์สุขดิบของเราด้วยซ้ำ”.