• วงการไอทีต้องสั่นสะเทือน เมื่อเจ้าพ่อเอไอ เจฟฟรีย์ ฮินตัน ตัดสินใจลาออกจาก กูเกิล พร้อมแสดงความรู้สึกเสียใจกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ของตนเองมาทั้งชีวิต และเตือนว่า เอไออาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ
  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ โดยก่อนหน้านี้ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคน ที่ออกมาเตือนถึงความเป็นไปได้ที่เอไอจะสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ และมนุษย์เราอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า อันไหนคือความจริงอีกต่อไป

เจ้าพ่อเอไอออกโรงเตือน

นายเจฟฟรีย์ ฮินตัน ผู้ที่สร้างรากฐานเทคโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) จนได้รับการขนานนามว่าเป็น เจ้าพ่อเอไอ ตัดสินใจลาออกจาก Google พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์แก่สื่อว่า รู้สึกเสียใจกับงานที่ตัวเองทำมาทั้งชีวิต กับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเตือนว่า เอไออาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ โดยหากเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันนี้ จะเห็นการพัฒนาเอไออย่างรวดเร็วจนน่ากลัว
ฮินตัน ยังระบุด้วยว่า การแข่งขันของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ยิ่งกดดันทำให้แต่ละบริษัทต้องเร่งปล่อยเทคโนโลยีเอไอใหม่ๆ ออกมา ด้วยการพัฒนาที่รวดเร็วเกินไป จนเกิดความเสี่ยงต่อตำแหน่งงาน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือน ทำให้ยากต่อการที่จะป้องกันคนไม่ดีนำมันไปใช้ในทางที่ไม่ดี โดย ฮินตัน ได้แจ้งการลาออกของเขาให้กูเกิลรับทราบเมื่อเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางสงครามของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ต่างเร่งพัฒนาเอไอ

...

เมื่อปี 2022 กูเกิลและโอเพนเอไอ สตาร์ท อัพ ที่อยู่เบื้องหลัง เอไอแชตบอต ChatGPT ได้เริ่มต้นสร้างระบบที่ใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ฮินตัน บอกกับ ไทมส์ ว่า เขาเชื่อว่าระบบเหล่านี้จะเข้ามาบดบังสติปัญญาของมนุษย์ด้วยวิธีการบางอย่าง เนื่องจากข้อมูลจำนวนมากที่เอไอได้มา และไม่แน่ว่าระบบที่วางไว้นั้น อาจจะมีประสิทธิภาพดีกว่าสมองของมนุษย์เรามากๆ 

และถึงแม้ว่าเอไอจะถูกนำมาใช้สนับสนุนการทำงานของมนุษย์ แต่การแผ่ขยายของแชตบอตอย่าง ChatGPT ก็อาจจะสร้างความเสี่ยงต่อตำแหน่งงานของมนุษย์ได้ แน่นอนว่ามันจะช่วยลดงานที่น่าเบื่อจำเจออกไป แต่มันก็อาจจะทำอะไรที่เกินขอบเขตกว่านั้นด้วย
ด้าน เจฟฟ์ ดีน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมพัฒนา กูเกิลเอไอ ได้กล่าวขอบคุณ ฮินตัน ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงในครั้งนี้ โดยระบุว่า ในฐานะที่กูเกิลเป็นหนึ่งในบริษัทอันดับต้นๆ ที่มีการเผยแพร่หลักการของเอไอ เรายังคงให้คำมั่นว่าจะแสดงความรับผิดชอบต่อการเข้าถึงเอไออย่างเต็มที่ โดยยังคงเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่จะเดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างกล้าหาญ

กระแสต่อต้านการพัฒนาเอไอ

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีชื่อดัง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง ได้เรียกร้องให้หยุดพัฒนา ระบบเอไอ เพื่อทอดเวลาให้ผ่านการตรวจสอบว่า เทคโนโลยีนี้มีความปลอดภัยจริงหรือไม่ โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีคนลงนามมากกว่า 1,000 คน ทั้งตัว นายอีลอน มัสก์ เอง และผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิลอย่าง สตีฟ วอซเนียก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเปิดตัว GPT-4 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำหน้าของ ChatGPT ด้วย โดยในครั้งนั้น นายฮินตัน ไม่ได้ร่วมลงนามในจดหมายฉบับดังกล่าวด้วย เพียงแต่ให้ความเห็นว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ไม่ควรจะขยายขอบเขตการพัฒนาออกไปมากกว่านี้ จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจอย่างแท้จริงว่า พวกเขายังสามารถควบคุมมันได้หรือไม่

ทำไมถึงต้องกลัวเอไอ?

ความฉลาดล้ำของเอไอ นำไปสู่ความรู้สึกไม่แน่นอน ความกลัว และความเกลียดชังต่อเทคโนโลยีของกลุ่มคนหมู่มากที่ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ โดยเอไอสามารถทำงานต่างๆ ที่มีเพียงแค่มนุษย์ที่จะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ การจัดลำดับงานอีเวนต์ รวมทั้งยังสามารถเรียนรู้ภาษาต่างๆ ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าด้วยความสามารถเหล่านี้ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม เอไออาจจะสร้างข้อมูลบิดเบือนจากการรับข้อมูลไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง สร้างภัยคุกคามความมั่นคงทางไซเบอร์ สูญเสียการจ้างงาน และยังสร้างอคติทางการเมืองด้วย

...

ปัจจุบัน จะเห็นว่าเอไอสร้างประโยชน์มากมายให้แก่มนุษย์เช่นกัน ทั้งการปรับปรุงงานประจำวันที่เรียบง่ายและซับซ้อน เป็นผู้ช่วยที่พร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสที่เอไอจะหลุดจากการควบคุมได้ และเพราะเอไอมีความสามารถในการเก็บข้อมูลและจดจำใบหน้า จึงอาจจะถูกนำไปใช้ในการระบุตัวตน และสถานที่ของแต่ละบุคคล เหมือนกับที่รัฐบาลจีนนำไปใช้เพื่อแกะรอย ติดตามตัวผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ เอไอยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการเงิน อย่างการให้คำแนะนำนักลงทุน ขณะที่บริษัทต่างๆ ก็นำเอไอ อัลกอริทึม ไปช่วยสร้างโมเดล เพื่อคาดการณ์ตลาดล่วงหน้า เพื่อนำไปใช้ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นด้วย แต่มันก็เป็นอัลกอริทึมที่แตกต่างจากที่มนุษย์ใช้ เพราะอาจจะไม่เข้าใจความเปราะบางของเศรษฐกิจในแต่ละวัน

เอไอจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ในสถานการณ์ใดบ้าง?

เอไอสามารถนำไปสู่การรุกล้ำข้อมูลส่วนตัว การจัดการทางสังคม และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทประกันรถยนต์อาจจะพิจารณาการทำประกันรถ โดยการให้เอไอตรวจสอบว่า เรามีการใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถหรือไม่ หรือบริษัทต่างๆ อาจจะจ้างงานโดยใช้เอไอในการพิจารณาคัดกรองผู้สมัคร ซึ่งอาจจะทำให้คนที่มีคุณลักษณะบางอย่างถูกตัดโอกาส หรือมีโอกาสน้อยลง เพราะไม่ได้ผ่านการพิจารณาโดยใช้เหตุผลอื่นๆ ร่วมด้วยเหมือนกับมนุษย์ จนอาจจะกลายเป็นประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ การล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว หรือจุดกระแสให้เกิดอคติทางการเมืองได้ โดย นายฮินตัน มองว่า ความชาญฉลาดของเอไอที่มนุษย์กำลังพัฒนา ต่างจากความฉลาดที่มนุษย์มี เพราะการรับรู้ของเอไอเป็นกลไกแบบดิจิทัล ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่การรับรู้เป็นไปตามกลไกทางชีววิทยา ซึ่งหากเราป้อนข้อมูลที่ได้มาจากการเรียนรู้ของคนหนึ่งคน AI ก็จะเรียนรู้ทั้งหมดจากคนคนนั้น แต่หากเราป้อนข้อมูลจาก 10,000 คน นั่นหมายความว่า เอไอก็จะชาญฉลาดยิ่งกว่ามนุษย์ไปอีกหลายเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้นหากในวันหนึ่งที่เอไอได้รับการพัฒนาถึงขีดสุด จนสามารถนึกคิดได้เอง โดยไม่ต้องรอประมวลผลจากคำสั่งที่มนุษย์ป้อน เอไออาจไม่ยอมทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยมนุษย์อย่างที่เป็นอยู่อีกต่อไป.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล