จากความเดิมตอนที่แล้ว ปฏิบัติการตีโต้ครั้งใหญ่ของยูเครนที่กำลังรอนับถอยหลังอยู่นี้ ยังมีปัจจัยไม่แน่นอนอื่นๆอีก นอกเหนือจากการปล่อยให้กองทัพรัสเซียมีเวลาขึงแนวตั้งรับในภาคใต้ และภาคตะวันออกยูเครนเป็นเวลานานกว่า 5 เดือน ควบคู่ไปกับการพักฟื้นสับเปลี่ยนกำลังพล

โดยตัวแปรที่ว่านี้ นักวิเคราะห์ความมั่นคงหลายฝ่ายประเมินว่า ยูเครนกำลังมีปัญหาขาดทหารที่มีประสบการณ์ หรือทหารระดับหัวกะทิที่ผ่านการฝึกฝน อาวุธครบเครื่อง และมีขวัญกำลังใจสูง อย่างเช่น หน่วยรบที่ไปผ่านหลักสูตรในประเทศสมาชิก NATO ที่จะได้มาตรฐานการรบของนาโตติดตัวกลับมา

มีหลายหน่วยที่อยู่ระหว่างการฝึกฝนยังไม่เดินทางกลับมายูเครน แต่บางหน่วยที่กลับมาแล้วก็ได้รับความบอบช้ำจากการสู้รบที่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการรบแบบ “ทำลายล้าง” เน้นการกำจัดกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ มากกว่าการชิงดินแดน เหมือนช่วงต้นสงครามปีก่อน

มีรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องว่า กำลังพลที่ยูเครนเตรียมไว้อาจมีมากกว่า 200,000 นาย ขณะที่หน่วยรบรัสเซียที่ตั้งมั่นอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกอาจจะอยู่ที่ 100,000 นาย (ไม่นับวากเนอร์) แต่กรณีนี้ก็มีนักวิชาการตั้งคำถามว่า ตัวเลขมหาศาลอาจไม่มีความหมาย ต้องดูกันที่ประสิทธิภาพเท่านั้น เพราะอย่างตอนที่กองทัพสหรัฐฯรุกรานอิรักเมื่อปี 2546 ประกอบด้วยกำลังพลพร้อมรบ 20,000 นาย ที่เหลือ 80,000 นายเป็นฝ่ายสนับสนุน

ตัวแปรไม่แน่นอนลำดับต่อไปคือเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และกระสุนจะเพียงพอต่อปฏิบัติการรุกหรือไม่ เพราะการรุกย่อมหมายถึงการระดมยิงอย่างหนักหน่วง จำเป็นต้องใช้กระสุนมากกว่าปกติ ไม่รวมถึงป้องกันน่านฟ้า สกัดกั้นไม่ให้อากาศยานของรัสเซียโจมตีหน่วยรบยูเครนที่กำลังเคลื่อนพล

หลายฝ่ายยังสงสัยกันว่า ที่ยูเครนเลื่อนการตีโต้มาตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 จนถึงบัดนี้ เป็นเพราะสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งก็สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลยูเครนที่ส่งสารอย่างต่อเนื่องถึงกลุ่มพันธมิตรนาโตว่า ทุกอย่างไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้ทุกอย่างเพิ่ม โดยเฉพาะเครื่องบินรบและอาวุธระยะไกล

...

กลุ่มคลังสมองในหลายประเทศเคยประเมินว่า หากยูเครนไม่บุกในฤดูใบไม้ผลินี้ก็อาจจะต้องเลื่อนไปช่วงฤดูร้อนเดือน ก.ค.-ส.ค. แต่ยิ่งเสียเวลามากเท่าไร รัสเซียก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น.

ตุ๊ ปากเกร็ด