ฟินแลนด์จะกลายเป็นสมาชิกของนาโต ในวันนี้ และเป็นสมาชิกนาโต ชาติที่ 31 ท่ามกลางคำเตือนจากรัสเซียที่ขู่จะเสริมกำลังป้องกันเพื่อเป็นการตอบโต้

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาฯ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แถลงที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียม เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่น ว่า ฟินแลนด์จะได้เป็นสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบของนาโต ในวันอังคารที่ 4 เม.ย. 2566 จะมีการเชิญธงชาติฟินแลนด์ขึ้นสู่ยอดเสาบริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ของนาโตเป็นครั้งแรก 

‘นี่คือสัปดาห์ประวัติศาสตร์ นับจากพรุ่งนี้เป็นต้นไป ฟินแลนด์จะได้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของพันธมิตรนาโต’ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าว ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมระดับ รมว.ต่างประเทศของชาติสมาชิกนาโต ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยเลขาธิการนาโตยังกล่าวว่า ‘จะเป็นวันที่ดีเพื่อความมั่นคงของฟินแลนด์, เพื่อความมั่นคงของภูมิภาคนอร์ดิก (ภูมิภาคในยุโรปเหนือ ประกอบด้วยเดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน และไอซ์แลนด์) และเพื่อชาติสมาชิกนาโตทั้งหมด’

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต

...

ขณะที่นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก ยังหวังว่า สวีเดน ซึ่งยื่นสมัครพร้อมกับฟินแลนด์ จะได้เป็นชาติสมาชิกนาโตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

การที่ฟินแลนด์ได้กลายเป็นสมาชิกนาโต ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของนาโตยุคใหม่ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจล้มเลิกนโยบายวางตัวเป็นกลางของฟินแลนด์ที่ดำเนินมายาวนาน หลังจากรัสเซียได้เปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครน ตั้งแต่ 24 ก.พ.2565

ฟินแลนด์ มีความกังวลในเรื่องความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากมีชายแดนติดกับรัสเซียเป็นระยะทางยาวถึง 1,340 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม นายอเล็กซานเดอร์ กรุชโค รมช.ต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะดำเนินการตอบโต้ที่ฟินแลนด์กลายเป็นชาติสมาชิกนาโต ด้วยการเสริมกำลังป้องกันชายแดน ด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย เพื่อเตรียมพร้อมปกป้องประเทศ ในกรณีที่กองกำลังทหารจากชาติสมาชิกอื่นๆ ของนาโตจะมีการระดมกำลังเข้ามาในฟินแลนด์ 

ขณะที่ สวีเดน ซึ่งยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตพร้อมกับฟินแลนด์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2565 ยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต เนื่องจากยังถูกรัฐบาลตุรกีขัดขวาง โดยรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป เอร์โดอานแห่งตุรกี กล่าวหารัฐบาลฟินแลนด์ และสวีเดนว่า สนับสนุนพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน ซึ่งรัฐบาลตุรกีเห็นว่า เป็นผู้ก่อการร้าย