รัสเซียดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสซี แม้ว่ายูเครนจะเรียกร้องให้สมาชิกคัดค้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ทั้งนี้ สมาชิก 15 ชาติของยูเอ็นเอสซี จะต้องผลัดเปลี่ยนดำรงตำแหน่งประธานเป็นเวลาหนึ่งเดือนในรูปแบบหมุนเวียน โดยครั้งสุดท้ายที่รัสเซียดำรงตำแหน่งประธานคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งในขณะนั้นรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงหมายความว่าคณะมนตรีความมั่นคงกำลังนำโดยประเทศที่ประธานาธิบดีอาจถูกจับกุมในข้อหาอาชญากรสงคราม หลังศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของสหประชาชาติ ออกหมายจับนายวลาดิเมียร์ ปูตินเมื่อเดือนที่แล้ว

แม้จะมีการร้องเรียนจากยูเครน แต่สหรัฐฯ ก็บอกว่าไม่สามารถขัดขวางรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวร ไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานยูเอ็นเอสซีได้ ขณะที่สมาชิกถาวรชาติอื่นๆ ยังรวมถึง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน

แม้บทบาทส่วนใหญ่ของประธานจะเกี่ยวข้องกับการดูแลการอภิปราย แต่นายวาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ บอกกับสำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียว่า เขาวางแผนที่จะดูแลการอภิปราย รวมถึงเรื่องการควบคุมอาวุธ รวมถึงเตรียมหารือเกี่ยวกับ "ระเบียบโลกใหม่" เพื่อแทนระบบขั้วเดียว

นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เรียกความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า "เป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดสำหรับวันเอพริลฟูลส์" และเป็นการเตือนว่า มีบางอย่างผิดปกติกับวิธีการทำงานของระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ และแสดงความเห็นเพิ่มเติมเมื่อวันเสาร์ ว่า "เป็นการตบหน้าประชาคมระหว่างประเทศ"

มิไคโล โพโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีของยูเครน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็น "การข่มขืนกฎหมายระหว่างประเทศอีกรูปแบบหนึ่ง ประเทศที่ทำสงครามอย่างดุเดือด ละเมิดบรรทัดฐานของกฎหมายมนุษยธรรมและกฎหมายอาญา ทำลายกฎบัตรสหประชาชาติ ละเลยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นประธานของหน่วยงานหลักที่รักษาความปลอดภัยของโลกได้

...

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคง ทำการปฏิรูปหรือ "ยุบ" คณะมนตรี โดยกล่าวหาว่ายูเอ็นเอสซีไม่สามารถดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการรุกรานของรัสเซีย เขายังเรียกร้องให้ถอดสถานะสมาชิกของรัสเซียแต่สหรัฐฯ ระบุว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากกฎบัตรสหประชาชาติไม่อนุญาตให้มีการถอดถอนสมาชิกถาวร

แครีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวในการแถลงข่าวในสัปดาห์นี้ว่า "น่าเสียดายที่รัสเซียเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และไม่มีแนวทางทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงนั้น" และเสริมว่าสหรัฐฯ คาดหวังให้รัสเซียยังคงใช้ที่นั่งในสภาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำในยูเครน

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่รับผิดชอบในการรักษาสันติภาพ โดย 5 ประเทศมีตัวแทนถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ที่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางอำนาจหลังสงครามเมื่อยูเอ็นเอสซีก่อตั้งขึ้น โดยทั้ง 5 ประเทศ ทำงานร่วมกับ 10 ประเทศสมาชิกไม่ถาวร

การที่รัสเซียอยู่ในฐานะสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงหมายความว่ารัสเซียสามารถยับยั้งการลงมติได้ โดยการผ่านการลงคะแนนเสียงของคณะมนตรีความมั่นคง จะต้องมีคะแนนเสียงเห็นด้วย 9 เสียง โดยไม่มีสมาชิกถาวร 5 ประเทศโหวตไม่เห็นด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว รัสเซียคัดค้านมติที่ตั้งใจจะยุติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยที่จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์งดออกเสียง ส่วนในเดือนกันยายน รัสเซียได้ยับยั้งมติที่เรียกร้องให้ยกเลิกการผนวกสี่ภูมิภาคของยูเครนอย่างผิดกฎหมาย โดยบราซิล จีน กาบอง และอินเดีย งดออกเสียง.