• นักวิทยาศาสตร์ทีมนานาชาติที่กำลังสืบหาต้นตอโควิด-19 เผยข้อมูลใหม่ที่พบความเชื่อมโยงต้นตอโควิด-19 กับ "จิ้งจอกแรคคูน" ที่ตลาดค้าส่งอาหารทะเลเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจากการวิเคราะห์หาลำดับพันธุกรรม พบตัวอย่างเชื้อโควิดเข้มข้น ในดีเอ็นเอสัตว์สายพันธ์นี้ ที่เป็นสัตว์คุ้มครองระดับ 2 ของจีน
  • องค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้การค้นพบใหม่ในครั้งนี้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า จิ้งจอกแรคคูน หรือสัตว์อื่นๆ เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปสู่มนุษย์ แต่ก็นับว่าเป็นข้อสงสัยที่มีความเป็นไปได้อย่างมาก และช่วยตอกย้ำความเป็นไปได้ของต้นตอที่มาจากสัตว์ติดเชื้อ และการลักลอบค้าสัตว์ป่าในจีน
  • ด้านผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่า เหตุใดทีมนักวิทยาศาสตร์จีนที่ทราบข้อมูลอยู่แล้ว แต่กลับไม่เปิดเผยข้อมูลพันธุกรรมออกมาก่อนหน้านี้ และเชื่อว่ามีการลบข้อมูลนี้ออกจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยนานาชาติที่กำลังสืบหาข้อมูล ยืนยันต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงต้นตอโควิด-19 กับ "จิ้งจอกแรคคูน" ที่ตลาดเมืองอู่ฮั่น จากการวิเคราะห์หาลำดับพันธุกรรม พบตัวอย่างเชื้อโควิดเข้มข้นในดีเอ็นเอสัตว์สายพันธ์นี้ ที่เป็นสัตว์คุ้มครองของจีน

...

ข้อสรุปที่เปลี่ยนไป

ก่อนหน้านี้นักวิจัยเก็บตัวอย่างจากการสวอปตามพื้นผิวแผงค้า ในตลาดหัวหนาน ตลาดค้าส่งอาหารทะเลแห่งใหญ่ของเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ในช่วง 2 เดือนหลังจากทางการมีคำสั่งปิดตลาดแห่งนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2020 แล้วนำตัวอย่างที่ได้ไปตรวจสอบ ผลออกมาว่า พบเชื้อโควิด-19 และดีเอ็นเอของมนุษย์ และในรายงานการค้นพบที่มีการตีพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้ว นักวิจัยจีนยืนยันว่า ไม่พบดีเอ็นเอของสัตว์แต่อย่างใด 

ขณะที่ล่าสุด ข้อสรุปนี้กลับตกไปหลังจากทีมนักวิจัยนานาประเทศที่ระบุว่า จากการวิเคราะห์หาลำดับพันธุกรรมที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนนำไปใส่ในฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ Gisaid พบว่า บางตัวอย่างที่มีเชื้อโควิด-19 เข้มข้นนั้นคือดีเอ็นเอจาก "จิ้งจอกแรคคูน" (Raccoon dog) และยังพบในดีเอ็นเอสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธ์อื่นๆ อย่างชะมด นับเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับทฤษฎีที่ว่า สัตว์ติดเชื้อที่ขายในตลาดแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 

"จิ้งจอกแรคคูน" คือตัวอะไร

"จิ้งจอกแรคคูน" (Raccoon dog) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง สายพันธุ์เดียวกับสุนัข ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "ทานูกิ" (Tanuki) ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่ามันเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับแรคคูน ลำตัวของมันมีความยาวประมาณ 50-68 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 4.5-10 กิโลกรัม น้ำหนักประมาณ 3.6-9 กิโลกรัม สามารถพบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น แถบยุโรปตะวันตก รัสเซีย ภาคตะวันออกของจีน ซึ่งในจีนจิ้งจอกแรคคูนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองระดับ 2 การล่าและค้าสัตว์ประเภทนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ทำให้หลายคนสงสัยว่า พบดีเอ็นเอจิ้งจอกแรคคูนที่ตลาดค้าส่งอาหารหัวหนานแห่งนี้ได้อย่างไร 

การพิสูจน์ต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้การค้นพบใหม่ในครั้งนี้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า จิ้งจอกแรคคูน หรือสัตว์อื่นๆ เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปสู่มนุษย์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่นักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอรายงานการค้นพบใหม่นี้ต่อองค์การอนามัยโลกแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่ต้นตออาจจะมาจากจิ้งจอกแรคคูน

...

ศาสตราจารย์คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักชีววิทยาวิวัฒนาการ แห่งสถาบันวิจัยสคริปส์ ในเมืองลา โยลลา รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เข้าร่วมทีมวิจัยข้อมูลต้นตอโควิด-19 ได้เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารไซแอนส์ว่า ยิ่งตรวจสอบหาต้อตอ ข้อมูลยิ่งชี้ไปที่ตลาดค้าส่งอาหารแห่งนี้ หลังจาก ฟอเรนส์ เดบาร์เร นักชีววิทยาวิวัฒนาการ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ของศูนย์แห่งชาติฝรั่งเศส เป็นคนตรวจพบแล้วแจ้งเรื่องนี้ให้เขากับศาสตราจารย์ไมเคิล วอโรบีย์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา ในสหรัฐฯ ได้ทราบ

ที่ผ่านมา การหาข้อสรุปเกี่ยวกับที่มาของโควิด-19 โรคระบาดร้ายแรงที่สุดของศตวรรษ มักเป็นการถกเถียงที่รุนแรงและจบลงแบบไร้ข้อสรุป ทฤษฎีหนึ่งระบุว่า ไวรัสอยู่ในสัตว์ป่าที่ระบาดสู่คน ผ่านการปนเปื้อนที่ตลาดค้าส่งอาหารอู่ฮั่น ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งคือการที่เชื้อหลุดออกมาจากห้องแล็บใกล้กับสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ที่ซึ่งนักวิจัยกำลังทำงานเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ 

โดยที่ผ่านมา ทฤษฎีเชื้อหลุดออกมาจากห้องแล็บได้รับความสนใจอย่างมาก หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลลับของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และรัฐสภาได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับต้นตอของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังขาดหลักฐานที่แน่ชัดในการยืนยันทั้ง 2 ทฤษฎีนี้ที่ผู้คนเชื่อกัน 

...

ขณะที่ข้อมูลพันธุกรรมล่าสุดก็ไม่อาจสรุปได้ว่า จิ้งจอกแรคคูน และสัตว์อื่นๆ ติดเชื้อโควิด-19 แล้วแพร่ระบาดสู่คนที่ตลาดแห่งนี้ เนื่องจากการพบว่าสัตว์ติดเชื้อ เชื้อไวรัสนั้นอาจมาจากคนก็เป็นไปได้ แต่การค้นพบครั้งนี้ได้ช่วยตอกย้ำความเป็นไปได้ของต้นตอที่มาจากสัตว์ติดเชื้อ และการลักลอบค้าสัตว์ป่าในจีน

ขณะเดียวกันก็ได้เกิดคำถามว่า เป็นเพราะเหตุใดทีมนักวิทยาศาสตร์จีนไม่เปิดเผยข้อมูลพันธุกรรมออกมาก่อนหน้านี้ โดย นายจอร์จ เกา อดีตหัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของจีน เปิดเผยว่า ไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่อย่างใด และไม่แน่ชัดว่าทำไมข้อมูลถึงถูกลบออกจากฐานข้อมูลของ Gisaid

ด้าน นายแพทย์โจนาธาน สโตเย นักไวรัสวิทยา และหัวหน้ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบที่มาของโควิด-19 ของสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ ระบุว่า ข้อมูลใหม่นี้ช่วยยืนยันหลักฐานว่า โควิด-19 มีที่มาจากสัตว์ติดเชื้อ แต่ไม่ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของทฤษฎีเชื้อหลุดจากห้องแล็บ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าสัตว์ติดมาจากที่ไหนกันแน่ ก่อนที่จะถูกขนส่งมายังตลาดแห่งนี้   

...

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะใกล้จบลงแล้ว โดย ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เรามาถึงจุดที่โควิด-19 จะไม่ต่างจากโรคไข้หวัดตามฤดูกาล และเชื่อว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้การระบาดจะสิ้นสุดลงแต่เชื่อว่าการถกเถียงและหาข้อพิสูจน์ถึงที่มาของโควิด-19 จะยังคงดำเนินต่อไป หรือเราอาจจะไม่มีวันทราบความจริงที่เกิดขึ้นเลย

ผู้เขียน  เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล The Guardian