ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักการศึกษาได้สำรวจการใช้หุ่นยนต์ทางสังคมเพื่อช่วยนักเรียนในการเรียนรู้ แต่ส่วนใหญ่งานวิจัยของนักการศึกษามักมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กที่มีอาการผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการทำให้เด็กเกิดพัฒนาการที่ล่าช้า หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการออทิซึม (Autistic spectrum disorder) ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำงานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ทางสังคมกับนักเรียนที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง หรือแอลดี

ล่าสุด ดร.เคิร์สติน ดอเทนฮาห์น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลูในแคนาดา ซึ่งทำงานด้านวิทยาการหุ่นยนต์ที่เกี่ยวข้องกับความทุพพลภาพนานหลายปี เผยว่า นักเรียนที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องอาจได้ประโยชน์จากการสนับสนุนการเรียนรู้จากหุ่นยนต์ทางสังคม หลังร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Learning Disabilities Society ในแวนคูเวอร์ ทดสอบการเรียนรู้ของนักเรียน 16 คนที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนักเรียนทำงานแบบตัวต่อตัวกับผู้สอนเท่านั้น ในอีกกลุ่มหนึ่ง นักเรียนทำงานแบบตัวต่อตัวกับผู้สอนและหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ชื่อ “คิวที” (QT) ซึ่งในกลุ่มหลังผู้สอนได้ใช้แท็บเล็ตสั่งการหุ่นยนต์ จากนั้นหุ่นยนต์ก็ทำกิจกรรมต่างๆโดยอัตโนมัติโดยใช้เสียงพูดและแสดงท่าทาง

นักวิจัยเผยว่านักเรียนในกลุ่มที่มีหุ่นยนต์ทางสังคมจะมีส่วนร่วมมากขึ้นกับงานของพวกเขาและสามารถทำงานให้เสร็จได้ในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์ ซึ่งชี้ว่าความสามารถของหุ่นยนต์คิวที ในการแสดงท่าทางโดยใช้ศีรษะและมือร่วมกับเสียงพูดและใบหน้าของหุ่นยนต์ ทำให้เหมาะสำหรับใช้กับเด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องได้ดี.

...

Credit : University of Waterloo