- บริษัททำเหมืองรายใหญ่ของโลก ทำแคปซูลบรรจุ ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีสูง หายระหว่างขนส่งข้ามทะเลทรายอันกว้างใหญ่ของรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย
- เจ้าหน้าที่ระดมกำลังหลายหน่วยงานเพื่อค้นหาแคปซูลรังสีที่หายไป แต่เนื่องจากมันมีขนาดเล็กมาก และพื้นที่ค้นหาไกลถึง 1,400 กม. ภารกิจนี้จึงเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร
- ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แคปซูลที่หายไปอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไปสัมผัสกับมันโดยไม่รู้ แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้พื้นดินปนเปื้อน ตราบใดที่แคปซูลไม่แตก
งานเข้าเต็มๆ สำหรับบริษัท ริโอ ตินโต ผู้ทำธุรกิจเหมืองรายใหญ่อันดับท็อปของโลก เมื่อผู้รับเหมาที่พวกเขาจ้าง ทำแคปซูลเงินบรรจุ ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีสูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์ทำเหมือง หายระหว่างเดินทางข้ามทะเลทรายอันกว้างใหญ่ของรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย
ริโอ ตินโต ระบุว่า พวกเขาตรวจสอบถนนทุกสายทั้งในและนอกเขตเหมือง กูได-ดาร์รี ในพื้นที่ห่างไกลทางเหนือของรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลียแล้วแต่ไม่พบ ขณะที่ทางการออสเตรเลียเชื่อว่าแคปซูลดังกล่าว อาจหล่นจากหลังรถบรรทุก “ที่ไหนสักแห่ง” ระหว่างเดินทางลงใต้ตามถนนหลวงเกรท นอร์เทิร์น เป็นระยะทางยาวถึง 1,400 กม. ไปยังเมืองเพิร์ธ
ด้วยขนาดของแคปซูลที่เล็กเพียง 8 มม. คูณ 6 มม. และพื้นที่ต้องสงสัยอันไพศาล ทำให้การค้นหามันเหมือนเป็นการงมเข็มในมหาสมุทรอย่างแท้จริง ซึ่งทางการออสเตรเลียเตือนว่า โอกาสที่จะหามันเจอนั้น มีน้อยมาก ท่ามกลางความกังวลว่า อาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่ไปพบมันเข้า เพราะซีเซียม-137 นี้ยังปล่อยรังสีออกมาได้แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 300 ปี
...
แคปซูลหายไปได้อย่างไร?
รัฐบาลรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ประกาศเตือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ม.ค. 2566) ให้ประชาชนระวังกัมมันตรังสีที่หล่นลงไปที่ใดสักแห่งในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐ รวมถึงพื้นที่ชานเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเพิร์ธ ซึ่งมีประชากรราว 2 ล้านคนด้วย
ข้อมูลจากทางการระบุว่า แคปซูลเงินบรรจุสารซีเซียม-137 ถูกบรรจุใส่กล่องพัสดุในวันที่ 10 ม.ค. ก่อนที่ผู้รับเหมาจะมารับมันไปจากพื้นที่เมืองกูได-ดาร์รี ของบริษัท ริโอ ตินโต เมื่อ 12 ม.ค. ใช้เวลาเดินทางบนถนนนาน 4 วันจนถึงเมืองเพิร์ธ ในวันที่ 16 ม.ค. แต่ต้องรอถึงวันที่ 26 ม.ค. พัสดุจึงถูกขนลงจากรถเพื่อตรวจสอบและพบว่า แคปซูลหายไปแล้ว
สำนักงานดับเพลิงและบริการสถานการณ์ฉุกเฉินของออสเตรเลีย (DFES) ระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดกล่องพัสดุ เจ้าหน้าที่พบว่า กล่องบรรจุแคปซูลหลุดออกจากที่ยึดเอาไว้ สลักเกลียว 1 ใน 4 ตัวที่ยึดตัวกล่องหายไป เช่นเดียวกับแคปซูลบรรจุกัมมันตรังสี ตะปูควงบนกล่องก็หายไปหมด
DFES เชื่อว่า แรงสั่นสะเทือนรุนแรงที่เกิดจากถนนขรุขระสร้างความเสียหายต่อพัสดุ ทำให้สลักที่ยึดกล่องบรรจุแคปซูลให้อยู่กับที่หลุดออก จนกล่องเสียหายและของที่อยู่ข้างในกระเด็นตกลงไป
เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร
เจ้าหน้าที่พยายามค้นหาแคปซูลที่หายไปด้วยอุปกรณ์ตรวจจับกัมมันตภาพรังสีที่เหนือกว่าระดับที่พบในธรรมชาติ ติดตั้งบนรถที่วิ่งอย่างช้าๆ ไปกลับบนถนนหลวงเกรท นอร์เทิร์น โดยการวิ่งจนสุดทางแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานถึง 5 วัน ล่าสุดในวันอังคาร รถเพิ่งวิ่งค้นหาไปได้ราว 660 กม. จากทั้งหมด 1,400 กม. เท่านั้น
ทางการรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย เตือนประชาชนไม่ให้เข้าใกล้แคปซูลภายในระยะ 5 ม. แต่ก็ยอมรับด้วยว่า การที่จะเห็นมันด้วยตาเปล่าจากระยะไกลนั้นเป็นเรื่องยากมาก
เจ้าหน้าที่ยังกังวลด้วยว่า แคปซูลบรรจุสารซีเซียม-137 นี้ อาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่ค้นหาแล้ว เช่นอาจติดไปกับยางรถยนต์คันอื่นที่พามันไปไกลกว่าเดิม หรืออาจถูกสัตว์ป่าอย่างนกคาบไป ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากมาย และสร้างปัญหามากขึ้น
นายเดฟ สวีนี นักวิเคราะห์นโยบายนิวเคลียร์จากกองทุน ‘Australian Conservation Foundation’ กล่าวว่า แคปซูลนี้จำเป็นต้องได้รับการเก็บกู้และเก็บรักษา แต่มีความไม่แน่นอนมากมายเหลือเกิน และเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง
ซีเซียม-137 อันตรายแค่ไหน ?
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า สารซีเซียม-13 สามารถก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงต่อมนุษย์ที่ไปสัมผัสกับมันได้หลายอย่าง ตั้งแต่ผิวหนังไหม้จากการสัมผัสใกล้ชิด, เจ็บป่วยจากกัมมันตภาพรังสี และอาจทำเกิดโรคมะเร็งซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสรังสีเป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัว
บริษัท ‘Radiation Services WA’ ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันรังสี ระบุว่า การยืนอยู่ภายในระยะ 1 ม. จากแคปซูลนี้นาน 1 ชั่วโมง อาจทำให้ได้รับกัมมันตภาพรังสีราว 1.6 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) ซึ่งใกล้เคียงกับการถ่ายภาพเอกซเรย์มาตรฐานถึง 17 ครั้ง ขณะที่การเก็บแคปซูลขึ้นมาจะสร้างความเสียหายรุนแรงต่อนิ้วมือและเนื้อเยื่อโดยรอบ
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ อีวาน เคมป์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น ออสเตรเลีย กล่าวว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เด็กที่อยากรู้อยากเห็นอาจหยิบแคปซูลขึ้นมาและเก็บไว้ในกระเป๋า
“นี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่มันเกิดขึ้นได้และเคยเกิดมาแล้ว” ผศ.เคมป์สันกล่าว “เคยมีตัวอย่างในอดีตบ้างที่ผู้คนค้นพบสิ่งของลักษณะคล้ายกันนี้และต้องเจ็บป่วยจากรังสีเป็นพิษ แต่กัมมันตรังสีที่พวกเขาเจอทรงพลังกว่าแคปซูลที่หายไปนี้มาก”
...
ถ้าหาไม่เจอจะเกิดอะไรขึ้น?
ศาสตราจารย์ประทีป เดบ เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยกัมมันตภาพรังสีจากมหาวิทยาลัย RMIT ในนครเมลเบิร์น เผยว่า ซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีแกมมากับเบตาออกมา มีค่าครึ่งชีวิต (half-life) อยู่ที่ราว 30 ปี หมายความว่า หลังจากผ่านไป 3 ทศวรรษแล้ว ภาวะกัมมันตภาพรังสีของมันจะลดลงครึ่งหนึ่ง และลดลงอีกครึ่งหนึ่งหลังจากผ่านไป 60 ปี
หากคิดตามอัตรานี้ไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าซีเซียม-137 จะยังสามารถปล่อยรังสีได้แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 300 ปีแล้วก็ตาม แต่ ศ.เดบเชื่อว่า ตราบใดที่แคปซูลไม่เสียหาย ถึงแม้ในท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่จะหาแคปซูลนี้ไม่พบ มันก็จะไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนหรือถ่ายทอดกัมมันตภาพรังสีไปยังพื้นดินโดยรอบ
แต่ศาสตราจารย์ เดล เบลลีย์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เตือนว่าหากแคปซูลเสียหายขึ้นมา จะกลายเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะรังสีเบตาที่ไม่ถูกจำกัดอีกแล้ว สามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อมนุษย์ที่สัมผัส ซีเซียมอาจซึมลึกถึงกระดูก จะทำให้ผู้เคราะห์ร้ายต้องสัมผัสกับรังสีแกมมากับเบตาต่อไปเรื่อยๆ ไม่สามารถกำจัดออกไปได้
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : cnn, reuters, the guardian
...