- นักดาราศาสตร์ตื่นเต้น ‘ดาวหางสีเขียว C/2022 E3 (ZTF)’ จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 1 ก.พ.นี้ จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
- การมาเยือนโลกของดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะเป็นการโคจรมาใกล้โลกครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี ใครพลาดครั้งนี้ ไม่ต้องหวังจะได้เห็นอีกแล้วในชั่วชีวิตนี้
- นักดาราศาสตร์สังเกตพบดาวหางสีเขียว C/2022 E3 (ZTF) เมื่อช่วงต้นปี 2565 ขณะกำลังอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และตอนแรกคิดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย ก่อนจะมากระจ่างว่าเป็นดาวหาง C/2022 E3(ZTF) เมื่อเร็วๆ นี้เอง
สร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ ดาวหาง ‘สีเขียวสดใส’ ซึ่งถูกนักดาราศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า ‘C/2022 E3 (ZTF)’ หรือเขียนสั้นๆ ว่า ‘C/2022 E3’ จะมาให้ชาวโลกได้ยล จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ นี้
สาเหตุที่การมาเยือนของดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ทำให้ผู้คนที่หลงรักการดูดาวและเหล่านักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์รู้สึกตื่นเต้นกันอย่างมาก และพากันเฝ้ารอดู เป็นเพราะดาวหางสีเขียวขจีดวงนี้ มีความโดดเด่นหลายประการ
นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อต้นปี 2565
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เพิ่งถูกค้นพบโดยเหล่านักดาราศาสตร์ที่ศูนย์ Zwicky Transient Facility ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ขณะที่ดาวหางกำลังอยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และตอนแรก นักดาราศาสตร์คิดว่า เป็นดาวเคราะห์น้อย แต่มากระจ่างว่ามันคือดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีแสงสว่างปรากฏออกมา ขณะโคจรใกล้ดวงอาทิตย์
นักดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อเล่นเรียกดาวหางดวงนี้ว่า ‘ดาวหางสีเขียว’ (Green Comet) ด้วยความที่เป็นดาวหางที่เรืองแสงสีเขียวขจี
...
มาเยือนโลกครั้งแรกในรอบ 5 หมื่นปี
การมาเยือนโลกดาวหางสีเขียวออร่าสุกสกาว C/2022 E3 (ZTF) รอบนี้ ถือเป็นการมาเยือนโลกมนุษย์ของเรา ครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี เรียกว่า หากใครพลาดชมการมาเยือนโลกของดาวหางสีเขียวรอบนี้ล่ะ ก็คงหมดโอกาสที่จะได้เห็นอีกแล้วในชั่วชีวิตนี้
นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เคยมาเยือนโลกของเราก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยยุคหินเก่าตอนปลาย และยังมีมนุษย์ยุคหิน ‘นีแอนเดอร์ทัล’ เดินไปเดินมาอยู่บนโลก
ขณะที่ นักดาราศาสตร์ยังเข้าใจว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มาจากกลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งเป็นชั้นทรงกลมของกลุ่มก้อนน้ำแข็งปนหิน ที่อยู่โดยรอบระบบสุริยะของเรา และเชื่อว่า กลุ่มเมฆออร์ตเป็นแหล่งต้นกำเนิดของดาวหางจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร
นิโคลัส บีเวอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่หอดูดาวปารีส กล่าวถึงดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ถูกสร้างขึ้นโดยน้ำแข็งและฝุ่น เปล่งแสงออร่าสีเขียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าดาวหาง NEOWISE เป็นดาวหางดวงสุดท้ายที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยมันพุ่งผ่านโลกในเดือนมีนาคมปี 2563 และก่อนหน้านี้ คือ ดาวหางเฮล-บอพพ์ (Hale-Bopp) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 67 กิโลเมตร และโคจรใกล้โลกมากที่สุดในปี 2540
ทำไมดาวหาง C/2022 E3 เรืองแสงสีเขียว
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ที่เราเห็นว่า เปล่งแสงออร่าสีเขียวสุกสกาว แต่แท้จริงแล้วตัวของมันเองไม่ได้สีเขียว แต่สาเหตุที่ทำให้เราเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) มีสีเขียว เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาเคมี อันเนื่องมาจากโมเลกุลอะตอมคู่ของธาตุคาร์บอนของดาวหาง ถูกแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์แตกโมเลกุล จึงทำให้เราเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เปล่งแสงสีเขียวออกมา
โคจรใกล้โลกที่สุด 1 ก.พ. 2566
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะโคจรใกล้โลกเรามากที่สุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีระยะห่างจากโลกของเราราว 26 ล้านไมล์ หรือประมาณ 42 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่าประมาณ 28% ของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จนทำให้ชาวโลกสามารถมองเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ได้ด้วยตาเปล่า แต่คงมีข้อแม้ว่าท้องฟ้ายามค่ำคืนในจุดที่เราดูดาวหางต้องไม่เต็มไปด้วยแสงไฟฟ้าในเมือง
นักดาราศาสตร์ระบุว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะโคจรใกล้โลกจนมองเห็นได้ในเวลาประมาณ 23.49 น. ของคืนวันพุธที่ 1 ก.พ. 2566 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ที่ระดับ 49 องศาเหนือเส้นขอบฟ้าทางทิศเหนือ และดาวหางจะไต่ขึ้นไปถึงระดับสูงสุดบนท้องฟ้า อยู่ที่ระดับ 58 องศาเหนือเส้นขอบฟ้าทางทิศเหนือในเวลาประมาณ 02.46 น.
...
จากนั้น ดาวหางจะหายไปโดยแสงอาทิตย์ยามเช้า หรือประมาณ 10.57 น. ของวันที่ 2 ก.พ. 2566 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช
เราสามารถมองเห็นดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ด้วยตาเปล่า แต่จะมองเห็นได้ง่ายขึ้นหากดูด้วยกล้องสองตาส่องทางไกล หรือกล้องโทรทรรศน์ และโอกาสที่ดีที่สุดในการดูดาวหางสีเขียว คือวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2566
ในขณะที่ นิโคลัส บีเวอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่หอดูดาวปารีส ยังกล่าวด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่หลังจากดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) โคจรผ่านโลกและดวงอาทิตย์ครั้งนี้แล้ว มันจะถูกขับออกจากระบบสุริยจักรวาลของเราอย่างถาวรไปตลอดกาล.
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
ที่มา : space.com , TheGurdian, Aljazeera
ขอบคุณภาพปก : NASA