วันที่ 1-2 ก.พ.นี้ เราจะได้มองเห็น ดาวหางสีเขียว C/2022 E3 (ZTF) ซึ่งตามข้อมูลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซาระบุว่า ดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้โลกภายในระยะ 42 ล้านกิโลเมตร อาจส่องกล้องส่องทางไกล กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก หรือหากต้องการดูดาวหางด้วยตาเปล่าๆด้วยตัวเองก็ให้มองไปทางทิศเหนือ หลังจากพระอาทิตย์ตกดินแล้วก็มองหาแสงสีเขียวจางๆตรงท้องฟ้ามืดสนิท

นักดาราศาสตร์เผยว่า จะมองเห็นดาวหางดังกล่าวได้ดีที่สุดในช่วงก่อนรุ่งสาง และภายในวันที่ 10 ก.พ. ดาวหางจะเข้าใกล้ดาวอังคาร นับว่าเป็นจุดสังเกตที่ดี เมื่อผ่านพ้นครั้งนี้ไป ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ก็ไม่น่าจะกลับมาอีกนับล้านปี นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการวิจัยบางชิ้นบอกว่า ดาวหางตามวิถีโคจรแบบ Hyperbolic Trajectory ที่เป็นการโคจรในรูปแบบเปิด อาจไม่มีวันกลับเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในอีกแล้ว

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ที่ไม่เป็นอันตรายดวงนี้ถูกค้นพบเมื่อเดือน มี.ค.2565 ไม่ได้เป็นแขกแปลกหน้าของโลก เพราะเคยมาเยือนเมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว การมาเยือนครั้งที่แล้วนั้นตรงกับช่วงยุคมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลที่เป็นมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อีกสายพันธุ์หนึ่ง นักดาราศาสตร์อธิบายว่าดาวหางดวงนี้มีหางยาวสีเขียวเรืองแสงมาจากคาร์บอนทั้งหมดในเมฆก๊าซ หรือโคม่ารอบนิวเคลียสที่คาดว่าจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.6 กิโลเมตร ขณะที่ส่วนหางยาวออกไปหลายล้านกิโลเมตร

นักดาราศาสตร์ไม่คาดว่าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะสว่างเกือบเท่ากับ ดาวหางนีโอไวซ์ (Neowise) ที่ผ่านเข้ามาในปี 2563 หรือ ดาวหางเฮล-บอพพ์ (Hale-Bopp) และ ดาวหางไฮอาคุตาเกะ (Hyakutake) ที่มาในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 1990 แต่คิดว่าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จะสว่างขึ้นเมื่อผ่านเข้าใกล้โลก นักดาราศาสตร์ระบุว่า ทุกครั้งที่ดาวหางโคจรรอบดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ แรงโน้มถ่วงของพวกมันจะเปลี่ยน แปลงเส้นทางของหัวดาวหางที่เหมือนก้อนน้ำแข็งไปเล็กน้อย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งนี้จะให้ข้อมูลมากขึ้น เพราะดาวหางเปรียบเหมือนแคปซูลแห่งกาลเวลาที่เก็บข้อมูลของระบบสุริยะช่วงก่อเกิดขึ้นเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ดาวหางมาจากสิ่งที่เรียกว่า เมฆอ็อต (Oort Cloud) ที่อยู่ไกลจากดาวพลูโต

...

ส่วนใครที่พลาดดูดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ก็ไม่ต้องหงุดหงิดไป เพราะยังมีอีกหลายสิบดวงมาให้ชม อาจใหญ่กว่า สว่างกว่า หรือใกล้กว่า แต่สำหรับ C/2022 E3 (ZTF) แล้วคงจะไม่ได้เห็นอีกในชั่วชีวิตของเรา.

ภัค เศารยะ