Foreign Policy นิตยสารสำคัญด้านการระหว่างประเทศที่ได้รับความเชื่อถือในแวดวงนานาชาติ รายงานข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯว่า ค.ศ.2021 รัฐบาลสหรัฐฯลงนามเห็นชอบการขายอาวุธให้รัฐสมาชิกนาโต 14 ครั้ง เป็นเงิน 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.42 แสนล้านบาท) ค.ศ.2022 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามรัสเซีย-อูเครน สหรัฐฯลงนามอนุมัติขายอาวุธให้รัฐสมาชิกนาโต 24 ครั้ง เป็นเงิน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (9.8 แสนล้านบาท)
สหรัฐฯขายอาวุธแก่สมาชิกนาโตเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว เพราะรัฐสมาชิกนาโตให้อาวุธอูเครนไปใช้รบกับรัสเซีย ทำให้คลังแสงของรัฐสมาชิกนาโตมีอาวุธเหลือน้อย ต้องไปหาซื้อมาทดแทน สหรัฐฯโยนเงินช่วยเหลือด้านการทหารและเศรษฐกิจแก่อูเครน แต่สิ่งที่สหรัฐฯได้ก็คือการขายอาวุธ
ทันทีที่เกิดสงครามรัสเซีย-อูเครน หุ้นของล็อคฮีทมาร์ติน บริษัทผลิตอาวุธให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 (เมื่อเทียบกับปี 2021) ผู้อ่านท่านคงชินกับชื่อของบริษัทโบอิ้งนะครับ พอเกิดการระบาดของโควิด-19 หุ้นของบริษัทโบอิ้งก็ร่วงอย่างแรง การแพร่ระบาดทำให้ผู้คนไม่เดินทาง คนงานอเมริกันที่ทำงานในบริษัทโบอิ้งได้รับผลกระทบอย่างแรง เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-อูเครน หุ้นของบริษัทโบอิ้งก็ทะยานขึ้นจนมีมูลค่าเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
เรย์เธียน เทคโนโลยีส์ เป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งผลิตอาวุธสำคัญให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก่อน ค.ศ.2022 บริษัทอยู่ในสภาวะลำบากทางการเงิน พอเกิดสงครามรัสเซีย-อูเครน หุ้นของบริษัทก็ทะยานขึ้นร้อยละ 17 เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทเจเนอรัล ไดนามิกส์ ที่ขึ้นร้อยละ 18 และอีกมากมายหลายบริษัท ที่รอดและผงาดขึ้นมาใหม่ได้เพราะรัฐสมาชิกนาโตซื้ออาวุธ
นิตยสาร Foreign Policy วิเคราะห์สรุปว่า นี่คือตัวอย่างผลลัพธ์ของการมีกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐฯ สหรัฐฯมอบระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ให้กับกองทัพอูเครน เมื่อทหารอูเครนเอาไปใช้แล้วได้ผล กองทัพลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโทเนียก็สะกิดรัฐบาลของตนเองให้สั่งซื้อระบบจรวดหลายลำกล้องของสหรัฐฯมาใช้ทันที
...
โปแลนด์ผลิตรถถัง PT-91 มาใช้ในประเทศ เป็นรถถังที่มีประสิทธิภาพดีพอสมควร เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-อูเครน รัฐบาลโปแลนด์มอบรถถังเหล่านี้ให้กองทัพอูเครน ทำให้โปแลนด์มีรถถังอยู่ในคลังน้อยลง ต้องร้องขอซื้อรถถังจากสหรัฐฯ ต้นเดือนธันวาคม 2022 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯขายรถถัง M1A1 Abrams จำนวน 116 คันแก่รัฐบาลโปแลนด์ ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่ารัฐบาลของรัฐสมาชิกนาโตคิดยังไงกับเรื่องการต้องซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพราะสงครามที่สหรัฐฯเข้ามายุแยงตะแคงรั่วให้เกิดขึ้น
30 ธันวาคม 2022 เป็นวันครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสหภาพโซเวียต ไม่ทราบว่าตั้งใจหรือบังเอิญ ที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนวิดีโอคอลสนทนากับนายปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นเวลานาน อย่างที่พวกการข่าวรัสเซียรายงานว่า ‘เนีย สโกลกา ชิตโซฟ’ ซึ่งในภาษาอังกฤษแปลว่า a few hours หมายถึง ‘สองสามชั่วโมง’
ระดับสี จิ้นผิงคุยกับปูตินอย่างเห็นหน้ากันนานถึงสองสามชั่วโมง และคุยกันในวันสถาปนาประเทศสหภาพโซเวียตครบ 100 ปี (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1922 ล่มสลายเมื่อ ค.ศ.1991 สหภาพโซเวียตดำรงอยู่นาน 69 ปี) ก็คงต้องมีเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด พวกวงในของรัฐบาลรัสเซียบอกว่า ทั้งสองประเทศยืนยันการเดินไปข้างหน้าและต่อสู้ด้วยกันอย่าง ‘หลังพิงหลัง’
คำว่า ‘หลังพิงหลัง’ หมายถึง ‘ต่างฝ่ายต่างระวังให้แก่กันและกัน’ ปีนี้ ค.ศ.2023 นายสี จิ้นผิงประกาศแล้วว่าจะเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกระดับ State Visit หมายถึงอย่างเป็นทางการ ทั้งสองประเทศแสดงเจตนารมณ์ชัดว่าต้องการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในระบบโลก ร่วมกันสู้เพื่อไม่ให้โลกมีขาใหญ่ที่กดขี่ขูดรีดประเทศเล็กชาติน้อยเหมือนในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com