• การเปลี่ยนระบบนับอายุของเกาหลีใต้อาจสร้างความลำบากให้แก่ชาวเกาหลีที่คุ้นชินกับการนับอายุแบบเดิมกันมานาน แต่ทางการยืนยันว่าการปรับระบบครั้งนี้จะส่งผลดีให้หลายด้านโดยเฉพาะการลดช่องโหว่ทางก.ม.
  • ในอดีตเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเกณฑ์การนับอายุมากถึง 3 วิธีด้วยกัน โดยใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก และจะนับอายุของทารกตั้งแต่อยู่ในท้อง ทำให้อายุของคนเกาหลีล้ำหน้ากว่าอายุตามสากล
  • การเปลี่ยนเกณฑ์การนับอายุครั้งนี้จะส่งผลให้ชาวเกาหลีใต้หนุ่มสาวขึ้นอีก เพราะจะมีอายุน้อยลง 1-2 ปี ตามกฎหมาย

ชาวเกาหลีใต้ จะมีอายุน้อยลง 1-2 ปี ตามเอกสารราชการ หลังจากเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านกฎหมายยกเลิกวิธีการนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีใต้ โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2023 โดยหลังจากนี้ การนับอายุแบบดั้งเดิมจะถูกยกเลิกใช้ในเอกสารต่างๆ ของราชการ และเปลี่ยนมาใช้วิธีการนับอายุตามหลักสากลแทนทั้งหมด

นับว่าการตัดสินใจครั้งนี้ ถือเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ที่เคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า การนับอายุแบบเกาหลีดั้งเดิม ก่อให้เกิดความสับสน จึงควรเปลี่ยนมาใช้ระบบการนับอายุเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

...

การนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีคืออะไร

วิธีการนับอายุที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเกาหลีใต้ที่เรียกว่า ระบบอายุเกาหลี จะเริ่มนับอายุตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ทำให้เมื่อทารกเกิดมาจะถือว่ามีอายุ 1 ปีแล้ว และเมื่อข้ามปีใหม่ทารกจะมีอายุเพิ่มอีก 1 ปีโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะคลอดในช่วงไหนของปีก็ตาม เช่น ทารกเกิดในวันที่ 31 ธันวาคม 2002 จะมีอายุ 1 ขวบทันที และเมื่อผ่านไปเพียง 1 วัน ในวันที่ 1 ม.ค. 2003 ทารกคนนั้นจะถือว่ามีอายุ 2 ปี ตามการนับอายุเกาหลี

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการนับอายุอีกแบบในเกาหลีด้วย เรียกว่าการนับตามอายุคือ เมื่อทารกเกิดมา จะยังไม่มีอายุ 1 ปีตามการนับอายุเกาหลี แต่เมื่อเข้าสู่วันที่ 1 ม.ค. ของปีถัดมา จะถือว่ามีอายุ 1 ขวบ ถือเป็นวิธีการนับอายุที่ใช้สำหรับคำนวณอายุตามกฎหมาย เพื่อใช้สำหรับการเกณฑ์ทหารสำหรับชายอายุไม่เกิน 35 ปี การดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ได้


อย่างไรก็ตาม การฉลองวันเกิดของเกาหลี จะใช้การนับอายุตามหลักสากลคือจะมีการจัดงานวันเกิดครบอายุ 1 ปี เมื่อครบ 365 วัน หลังจากวันคลอด โดยวิธีการนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีใต้ที่ยึดตามปฏิทินจันทรคตินี้ เคยใช้แพร่หลายในเอเชียตะวันออก แต่ประเทศอื่นๆ ได้เปลี่ยนไปใช้ระบบการนับอายุตามหลักสากลกันหมดแล้ว

ความพยายามในการเปลี่ยนระบบนับอายุ


ที่ผ่านมา เกาหลีใต้พยายามปรับเปลี่ยนการนับอายุจากวิธีการดั้งเดิม แต่ความพยายามเหล่านี้กลับถูกคัดค้านโดยประชาชนบางกลุ่มที่คุ้นชินกับการนับอายุตามระบบเดิม และกลัวว่าจะยิ่งสร้างความสับสนมากขึ้น เนื่องจากเกาหลีใต้มีวิธีการนับอายุอยู่ถึง 3 รูปแบบ และคงต้องใช้เวลาสักระยะในการปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ ทำให้การเสนอร่างกฎหมายที่ผ่านมาถูกตีตกไปถึง 2 ครั้งคือในปี 2019-2021

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่าชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ถึง 71 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนให้ยกเลิกระบบการนับอายุแบบดั้งเดิม เพราะก่อนหน้านี้ก็มีผู้ปกครองบางส่วนที่กังวลเกี่ยวกับลูกที่เกิดในเดือนธันวาคมที่จะเสียเปรียบเด็กคนอื่นๆ ทั้งการเข้าโรงเรียน และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอื่นๆ ที่จะตามมาจนมีการโกงอายุกันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ยังเกิดความสับสนในเรื่องของอายุของผู้ที่จะเข้าเกณฑ์เข้ารับวัคซีน จนเกิดความวุ่นวายไม่น้อย

จากปัญหาที่พบ ทำให้นายยุน ซ็อก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนล่าสุดจากพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม ได้ชูนโยบายที่จะยกเลิกการนับอายุแบบเกาหลีดั้งเดิม ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าการนับอายุได้ถึง 3 รูปแบบในเกาหลี ทำให้ภาครัฐต้องเสียทรัพยากรและค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจสังคมโดยใช่เหตุ และยังทำให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายและสังคม นำมาซึ่งความสับสน จึงจำเป็นต้องผลักดันให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งแน่นอนว่าการยกเลิกวัฒนธรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคน คงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป และอาจจะใช้เวลานานหลายปีในการยอมรับ แต่ที่แน่ๆบรรดาชาวโสมขาวรุ่นใหญ่คงดีใจไม่น้อย เพราะจู่ๆก็ได้ย้อนวัยลดอายุตัวเองลงไปได้อีกตั้ง1-2 ปี.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล