ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับบรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่และทำให้เดือน ธ.ค.นี้ ถือเป็นห้วงเวลาของความคาดหวังว่า ในปีหน้าทุกอย่างจะดียิ่งขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปตั้งวงสนทนากับคุณจูเซปเป เด วินเซนทิส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มองว่า สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เผชิญกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยตามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเพื่อนบ้าน “เมียนมา”

จากข้อมูลของหน่วยงานค่ายพักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ทั้งในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี (ทางการไทยใช้คำว่าผู้หนีภัยและเรียกค่ายว่าพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา) มีผู้ลี้ภัยอยู่กว่า 91,000 คน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ขณะที่งบสำหรับการช่วยเหลือที่จำเป็นยังขาดอยู่ประมาณ 14.9 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 551 ล้านบาท

ยูเอ็นเอชซีอาร์ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย ขอขอบคุณความช่วยเหลือที่ผ่านมา ความพยายามที่จะหาทางออกอย่างยั่งยืน แต่เข้าใจดีว่าเรื่องนี้แก้ฝ่ายเดียวไม่ได้และเป็นที่น่าเสียดายว่า นโยบาย “ยูเทิร์น” ที่ไทยต้องการให้ผู้หนีภัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปขอเอกสารทางการและจะได้กลับมาประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีอันต้องหยุดชะงักไป หลังเผชิญกับความวุ่นวายจากโควิด-19 และสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา

คุณจูเซปเปยังตอบคำถามเรื่องผู้ลี้ภัยถูกมองในเชิงลบทางสังคมด้วยว่า อยากให้มองถึงภาพอนาคตแบบไม่เอาอารมณ์เอาความดราม่าเข้ามาเกี่ยวข้อง อยากให้ลองพิจารณาดูว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นคุณค่าสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะสังคมที่กำลังขาดแคลนแรงงาน หรืออาชีพที่คนไทยไม่อยากจะทำ

...

อย่างไรก็ตาม มนุษย์เรามีชีวิตจิตใจเหมือนกันทุกคน ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงสาธารณสุขและการศึกษาเหมือนกัน แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเปราะบางที่พูดยากมาก ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้และก็เข้าใจคนที่ไม่ชอบ หรือคนที่ไม่มีเวลาสนใจเนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ผมอยากจะขอคือ “ฮิวแมนทัช” (Human Touch) ปฏิสัมพันธ์ความเป็นมิตร อบอุ่น เข้าอกเข้าใจของคน อย่าลืมเลือนกันเลยครับ.

ตุ๊ ปากเกร็ด