สื่อสหรัฐฯ เผย พนักงานของทวิตเตอร์จำนวนกว่า 1,200 คนตัดสินใจลาออกจากบริษัท หลัง อีลอน มัสก์ เจ้าของคนใหม่ ยื่นคำขาดว่าต้องทำงานมากขึ้น หรือไม่ก็ลาออกไป
สำนักข่าว นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (16 พ.ย. 2565) อีลอน มัสก์ เจ้าของใหม่ของบริษัท ทวิตเตอร์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดัง ประกาศแผนที่เรียกว่า ‘ทวิตเตอร์ 2.0’ สร้างวัฒนธรรมการทำงานหนักและยาวนานหลายชั่วโมงต่อวัน พร้อมยื่นคำขาดให้พนักงานตอบรับหรือปฏิเสธด้วยการลาออกภายใน 17.00 น.วันพฤหัสบดี
ล่าสุด แหล่งข่าว 3 คนที่มีความใกล้ชิดกับบริษัท ทวิตเตอร์ บอกกับ นิวยอร์ก ไทม์ส ว่า มีลูกจ้างแบบเต็มเวลาลาออกไปอย่างน้อย 1,200 คนเมื่อวันพฤหัสบดี
อีลอน มัสก์ กำลังพยายามอย่างหนักในการเปลี่ยนโฉมของทวิตเตอร์ ที่เขาซื้อมาในราคา 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนก่อน ทั้งเลย์ออฟพนักงานกว่า 50%, ไล่ออกผู้เห็นต่าง, ผลักดันระบบสมัครสมาชิกแบบใหม่ซึ่งถูกระงับไปในเวลาต่อมา และส่งข้อความแรงๆ ออกมาว่า บริษัทจะล้มละลายหากไม่มีการพัฒนาไปมากกว่านี้
แต่ตอนนี้เริ่มเกิดคำถามแล้วว่า นายมัสก์ ในวัย 51 ปีเคลื่อนไหวเร็วเกินไปหรือไม่ จากเดิมที่บริษัทเคยมีลูกจ้างเต็มเวลากว่า 7,500 คน กลับลดลงเหลือราว 3,700 คนในการเลย์ออฟครั้งใหญ่ และลดลงอีกหลังการลาออกเมื่อวันพฤหัสบดี จนทำให้ผู้ใช้งานหลายคนเริ่มกังวลว่า บริษัทนี้จะไปรอดหรือไม่ มีการส่งข้อความร่ำลาจนแฮชแท็กคำว่า # TwitterMigration หรืออพยพจากทวิตเตอร์ ติดเทรนด์
ในขณะเดียวกัน เริ่มเกิดความสับสนในระบบการทำงานภายใน โดยอดีตลูกจ้างทวิตเตอร์ 2 คนบอกกับ นิวยอร์ก ไทม์ส ว่า ทีมที่เรียกว่า ศูนย์สั่งการทวิตเตอร์ (Twitter Command Center) หน่วยงาน 20 คน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญเพื่อป้องกันการล่มของระบบกรณีที่มีผู้ใช้งานปริมาณมาก มีพนักงานหลายคนออกจำนวนมาก ส่วนทีมบริการหลัก (core services team) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ ก็มีพนักงานลดจากมากกว่า 100 คนเหลือแค่ 4 คนเท่านั้น ขณะที่ทีมดูแลเรื่องการปรากฏของสื่อบนทวิตเตอร์ หรือดูแลเรื่องการแสดงยอดผู้ติดตามในหน้าโปรไฟล์ ไม่มีพนักงานเหลือแล้ว
...
นายปีเตอร์ คลาวส์ วิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสของทวิตเตอร์ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ทีมวิศวกรของเขา มีเพียง 3 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 75 คนที่ตัดสินใจอยู่ โดยเขาเป็นหนึ่งในคนที่ลาออก ขณะที่พนักงานหญิงผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง เผยว่าเธอใช้เวลา 2 วันในการตามหาผู้จัดการแผนก ซึ่งเธอไม่รู้แล้วว่าเป็นใครเพราะคนลาออกเยอะมาก เพื่อยื่นหนังสือลาออกของตัวเอง จนในที่สุดเธอก็ได้พบหัวหน้าสายงาน และในวันต่อมา หัวหน้าคนนั้นก็ลาออกเช่นกัน
ทั้งนี้ การลดลงของพนักงานระลอกล่าสุดของทวิตเตอร์ เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (20 พ.ย.) ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นหนึ่งในช่วงที่ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานมากที่สุด ทำให้เกิดความกังวลว่า พนักงานที่มีอยู่ตอนนี้จะรับมือไหวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อีลอน มัสก์ ทวีตข้อความแสดงความเชื่อมั่นว่า บริการของบริษัทจะไม่เป็นไร “คนเก่งที่สุดยังอยู่ ดังนั้นผมจึงไม่กังวลอะไรเลย”