หนึ่งในช่างทำเครื่องดนตรีชื่อก้องโลกต้องมี อันโตนิโอ สตราดิวารี อยู่ในชื่อต้นๆของประวัติศาสตร์ ช่างฝีมือชาวอิตาลีในสมัยศตวรรษที่ 17 คนนี้เลื่องลือในการทำเครื่องดนตรีอย่างไวโอลิน วิโอลา เชลโล ซึ่งกรรมวิธีในการสร้างเครื่องดนตรีของตระกูลสตราดิวารี เป็นเรื่องที่นักวิจัยให้ความสนใจอย่างมาก
นักดนตรีบางคนกล่าวว่า ไวโอลินของสตราดิวารีให้เสียงที่ไพเราะและมีความชัดเจนในระดับที่ไม่มีใครเทียบได้ แม้กับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ มีการวิจัยก่อนหน้านี้เผยว่า เครื่องสายบางชิ้นที่สตราดิวารีประดิษฐ์ขึ้น มีการเคลือบสารบางอย่างที่อยู่ภายใต้สารเคลือบเงาที่มันวาว จุดประสงค์ของสารเคลือบลึกลับนี้ก็คือการเติมและทำให้เนื้อไม้เรียบขึ้น น่าจะส่งผลต่อเสียงสะท้อนของไม้และเสียงที่เกิดขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากอนาไลติคัล เคมิสทรี (Analytical Chemistry) ได้รายงานผลวิจัยใหม่ว่า หลังจากใช้เครื่องมือ IR s-SNOM ประกอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่รวบรวมภาพที่มีความกว้างหลายสิบนาโนเมตร และวัดแสงอินฟรา เรดที่กระจัดกระจายจากชั้นเคลือบและไม้ ทำให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีในไวโอลิน 2 ตัวของสตราดิวารี ผลการตรวจสอบนี้ชี้ให้เห็นว่า “ชั้น” ที่อยู่ระหว่างไม้และสารเคลือบเงาของไวโอลินทั้ง 2 ตัว มีโปรตีนเป็นส่วน ประกอบรวมกันเป็นหย่อมขนาดนาโน
นักวิจัยเผยว่า การรู้จักองค์ประกอบเหล่านี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการจำลองเครื่องดนตรีโบราณ โดย IR s-SNOM จะให้ภาพ 3 มิติโดยละเอียดของประเภทของสารบนพื้นผิวของไวโอลิน ซึ่งสามารถใช้วิธีนี้กับการวิจัยในอนาคตเพื่อระบุสารประกอบในตัวอย่างมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชั้นหลายชั้นอันซับซ้อนได้.