ตำรวจอินโดนีเซียตั้งข้อหาผู้ต้องสงสัย 6 คนรวมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุเหยียบกันในสนามฟุตบอลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 131 ศพ

สำนักข่าว แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า นายลิสตีโย ซิกิต ปราโบโว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ต.ค. 2565 ว่าจากการสืบสวนและหลักฐานที่เพียงพอ ทำให้พวกเขาสามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัย 6 คนที่มีส่วนรับผิดชอบ ต่อเหตุจลาจลในสนามฟุตบอลเมืองมาลัง ซึ่งนำไปสู่เหตุเหยียบกันจนมีผู้เสียชีวิตถึง 131 ศพเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายปราโบโวระบุว่า ทั้ง 6 คนประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายกับอีก 3 คนที่รับผิดชอบเรื่องจัดการแข่งขันและรักษาความปลอดภัยในสนาม ซึ่งรวมถึงหัวหน้าคณะกรรมการจัดการแข่งขันของทีม อารีมา เอฟซี (Arema FC) และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งของสโมสร โดยพวกเขาถูกตั้งข้อหาปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดการเสียชีวิต

ตำรวจ 2 นายที่ถูกตั้งข้อหายังกำลังถูกสอบสวนฐานออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่นายอื่นยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน ส่วนนายที่ 3 ถูกสอบสวนเพราะรู้กฎความปลอดภัยของ FIFA ที่ห้ามยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่บริเวณอัฒจันทร์คนดู แต่กลับไม่ห้ามเพื่อนร่วมงานจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

ผู้ต้องสงสัยทั้ง 6 คน อาจได้รับโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดการเสียชีวิต ส่วนหัวหน้าคณะกรรมการจัดการแข่งขันของ อารีมา เอฟซี กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ถูกตั้งข้อหา ถูกสมาคมฟุตบอลแห่งอินโดนีเซีย ลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการตลอดชีวิต

...

อนึ่ง โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอลอินโดนีเซียนี้ เกิดขึ้นที่สนามฟุตบอลเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก โดยภายในสนามมีเพียงแฟนทีมเจ้าบ้านอย่าง อารีมา เอฟซี เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าชม ไม่ให้แฟนฟุตบอลทีม เปอร์เซบายา สุราบายา (Persebaya Surabaya) ซึ่งเป็นทีมเยือนเข้า เนื่องจากประวัติศาสตร์ความเป็นอริและการใช้ความรุนแรงต่อกัน

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า หลังการแข่งขันจบลงแฟนบอลทีมอารีมากว่า 42,000 คน กรูกันลงไปในสนามเนื่องจากไม่พอใจที่ทีมรักพ่ายแพ้ทีมคู่แข่งไป 2 ต่อ 3 ประตู และเป็นการปราชัยต่อ เปอร์เซบายา ครั้งแรกในรอบ 23 ปี หลายคนปาขวดและวัตถุอื่นๆ เข้าใส่นักฟุตบอลกับทีมงาน รถตำรวจหน้าสนามอย่างน้อย 5 คันถูกจุดไฟเผา

แต่สถานการณ์เริ่มวุ่นวายมากขึ้นเมื่อตำรวจปราบจลาจลพยายามยุติความรุนแรงด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนรวมถึงผู้ที่อยู่บนอัฒจันทร์คนดู ทำให้ผู้คนแตกตื่นและพยายามหลบหนีออกจากสนาม กลายเป็นคอขวดที่ประตูทางออกซึ่งมีขนาดเล็ก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 131 ศพ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการเหยียบกันและขาดอากาศหายใจ