- "มาห์ซา อามินี" หญิงสาวชาวอิหร่าน วัย 22 ปี ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมตัวในกรุงเตหะราน ข้อหาสวมฮิญาบไม่เรียบร้อย ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในอีก 3 วันต่อมา ญาติของเธอเชื่อว่าเป็นการถูกทำร้ายในเรือนจำจนเสียชีวิต
- การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ "มาห์ซา อามินี" จุดชนวนความโกรธแค้นต่อระบบการปกครองกดขี่ที่ดำเนินมานานกว่า 4 ทศวรรษ ผู้ประท้วงจำนวนมากออกมาเดินขบวนและชุมนุมตามท้องถนนในหลายเมืองทั่วประเทศย่างเข้าสัปดาห์ที่ 3 ก่อให้เกิดกระแสการประท้วงส่งกำลังใจให้ผู้หญิงอิหร่านในหลายประเทศทั่วโลก
- ขณะที่การประท้วงขยายวงไปยังกว่า 80 เมืองทั่วประเทศ ทางการอิหร่านออกมาประกาศมาตรการตัดอินเทอร์เน็ตวันละ 16 ชั่วโมง โดยอ้างเหตุด้านความมั่นคง นับเป็นการสกัดช่องทางการสื่อสารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา "มาห์ซา อามินี" หญิงสาววัย 22 ปี จากจังหวัดบ้านเกิดเคอร์ดิสถาน เดินทางไปกรุงเตหะราน ตอนออกมาจากสถานีรถไฟใต้ดิน เธอได้ถูกตำรวจศีลธรรมเข้าควบคุมตัวฐานแต่งกายไม่เรียบร้อย สวมใส่ฮิญาบไม่เรียบร้อยเผยให้เห็นเส้นผมสยายออกมา ผิดหลักจารีตประเพณีที่ดีงามของผู้หญิงชาวอิหร่าน
ระหว่างอยู่ในเรือนจำอามินีมีอาการป่วย ล้มหมดสติ จากนั้นได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลคาซรา ที่อยู่ใกล้เรือนจำ ด้วยอาการโคม่าและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวันที่ 16 กันยายน หรือ 3 นับจากวันที่ถูกจับกุม ทางการอิหร่านชี้แจงว่าเธอมีอาการหัวใจล้มเหลวในเรือนจำ ขณะที่ญาติพี่น้องของเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่น บอกว่าจะไม่ยอมรับข้ออ้างของทางการที่ว่าอามินี มีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว แต่เชื่อว่าเป็นการถูกตำรวจทารุณกรรมทำร้ายร่างกาย

...
ข่าวการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของนางสาวอามินี แพร่ไปในโลกโซเชียล ทำให้เกิดกระแสโกรธแค้น ชาวบ้านทั่วไปต่างรู้สึกว่าการเสียชีวิตของอามินี อาจมีบางอย่างถูกปกปิดไว้ และเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมที่พวกเขายอมรับไม่ได้ เลยต่างลุกฮือโกรธแค้นพากันออกมาชุมนุมที่เมืองซาเกซ บ้านเกิดของเธอในจังหวัดเคอร์ดิสถาน จากนั้นผู้หญิงในกรุงเตหะรานและในหลายเมืองใหญ่พากันออกมาเดินขบวนประท้วง ถอดผ้าคลุมศีรษะแล้วเอามาเผากลางเมือง อันเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงที่มีมาตั้งแต่สมัยชาวเปอร์เซียโบราณ
สัปดาห์ที่ผ่านมากลุ่มนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและสถานศึกษากว่า 110 แห่งลงชื่อร่วมการประท้วง ขณะเดียวกับที่การประท้วงได้ขยายวงออกไปยังเมืองใหญ่ๆ ของอิหร่านอย่างกรุงเตหะราน อิสฟาฮาน ราชต์ และชีราซ ตลอดจนในเมืองศักดิ์สิทธิ์อย่างเมืองกอม และยังขยายไปยังกว่า 80 เมืองจากนั้นได้มีเหล่าคนดังที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสิทธิสตรีในหลายประเทศทั่วโลกทั้งในกรุงลอนดอน โรม โอ๊คแลนด์ เมลเบิร์น นิวยอร์ก ปารีส สต็อกโฮล์ม ซิดนีย์ ซูริค และ มาดริด ร่วมประท้วงภายใต้สโลแกน "ผู้หญิง ชีวิตและเสรีภาพ" เพื่อต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน มีการตัดผม โกนศีรษะ เพื่อแสดงพลังร่วมใจกับผู้หญิงชาวอิหร่าน

นับเป็นการประท้วงต่อต้านระบบการปกครองอิหร่านครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า การประท้วงใหญ่ครั้งนี้อาจเป็นชนวนลุกลามไปสู่คลื่นการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติการเมืองการปกครองเหมือนปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับเมื่อปี 2553 หรือไม่
สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่าน รายงานว่าเหตุประท้วงรุนแรงที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 41 ศพ ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีผู้ประท้วงก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุมตัวไปหลายร้อยราย ขณะที่องค์การสิทธิมนุษยชนอิหร่าน ที่มีสำนักงานในนอร์เวย์ เปิดเผยว่า กองกำลังความมั่นคงของอิหร่านการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง ทำให้มีผู้สังเวยชีวิตแล้วเกือบ 80 ศพ บาดเจ็บอีกหลายร้อยราย

เหล่าคนดังทั่วโลกแสดงพลังหนุนผู้ประท้วงอิหร่าน
ขณะที่การประท้วงในอิหร่านย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 เหล่าคนดังเซเลบริตี้จากทั่วโลกต่างพร้อมใจส่งข้อความสนับสนุนการประท้วงในอิหร่าน หลายคนลงทุนถ่ายคลิปวิดีโอตัดผมเพื่อแสดงพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับสตรีอิหร่าน เรียกร้องเสรีภาพและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
...
แม้แต่คนดังที่เป็นผู้ชายอย่างอาลี คาริมี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติชื่อดัง ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง ขณะที่สื่อของทางการอิหร่านรายงานว่า นายคาริมี อาจถูกตำรวจสากลจับกุมตัว และสินทรัพย์ของเขาอย่างวิลล่าหรูในเมืองลาวาซาน ใกล้กับกรุงเตหะราน ได้ถูกทางการยึดไว้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าทรัพย์สินของเขาส่วนใหญ่ถูกถ่ายโอนไปแล้วตั้งแต่ก่อนเดินทางออกจากอิหร่าน

นอกจากนี้นายเมห์ราน โมดิรี นักแสดงตลกชื่อดังชาวอิหร่านออกมาโพสต์คลิปวิดีโอเรียกร้องให้ทางการอิหร่านรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของอามินี รายงานข่าวระบุว่านายโมดิรีไม่ได้พำนักอยู่ในอิหร่านแล้ว แต่ไม่แน่ชัดว่าเขาหลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่เมื่อไหร่
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนมีชื่อเสียงในอิหร่านหลายรายถูกจับกุมตัว รวมไปถึงนิลูฟาร์ ฮาเมดี ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์รายวัน Shargh ที่ถูกรวบตัวที่บ้านพักในกรุงเตหะราน เมื่อสัปดาห์ก่อนและถูกส่งตัวไปขังเดี่ยวที่เรือนจำเอวิน โดยเธอเป็นนักข่าวคนแรกๆ ที่รายงานข่าวอามินี ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต
...
นอกจากนี้มีรายงานว่า ฟาเซห์ ฮาเชมี บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีอัคบาร์ ฮาเชมี ราฟซานจานี ผู้ล่วงลับ ได้ถูกหน่วยข่าวกรองควบคุมตัวฐานปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลระหว่างการประท้วงในเมืองทางตะวันออกของกรุงเตหะราน ก่อนหน้านี้เธอเพิ่งถูกจับกุมตัวระหว่างการประท้วงและสั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ

ปฏิกิริยาจากทางการอิหร่าน
นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มลุกลาม ทางการอิหร่านได้สั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็นเวลาอย่างน้อย 16 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อตอบโต้กับการประท้วงของประชาชน นอกจากนี้ยังจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันรับ-ส่งข้อความ
รัฐบาลอิหร่านระบุว่า กระบวนการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของอามินี ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์พร้อมชี้ว่า กลุ่มผู้ประท้วงก่อเหตุจลาจลต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหวโดยได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลได้สนทนาทางโทรศัพท์กับบรรดาญาติพี่น้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยลาดตระเวนบาซิจ หลายรายที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุม โดยระบุว่าทางรัฐบาลจะจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต
...
ขณะที่กองกำลังปกป้องการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน โจมตีฐานที่มั่นกองกำลังชาวเคิร์ด ทางตอนเหนือของอิรัก ถึง 5 ครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยบอกว่าเป็นการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายที่ลักลอบเอาอาวุธเข้าไปสนับสนุนผู้ประท้วงในกรุงเตหะราน นอกจากนี้ยังมีการทลายเครือข่ายกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่วางแผนก่อเหตุระเบิดรุนแรงในเมืองทาบริซ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
อับบาส นิลโฟรูชาน รองผู้บัญชาการปฏิบัติการกองกำลังปฏิวัติอิสลามของอิหร่านกล่าวว่า จะโจมตีกลุ่มคนที่ต่อต้านการปฏิวัติอิหร่านทุกหนแห่งให้ราบคาบ
นายฮอสเซน อามิราบโดลลาห์ฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ในอิหร่าน และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใดๆ ทั้งนั้น พร้อมวอนทุกคนว่าอย่างมาล้อเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนอิหร่าน
ขณะที่แกรนด์ อะยาตอลเลาะห์ นาเซอร์ มาคาเร็ม ชิราซี ผู้นำทางศาสนาที่ได้รับการเคารพยกย่องในอิหร่านออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประท้วงว่า ชาวอิหร่านโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีสิทธิที่จะออกมาประท้วงและรัฐบาลต้องฟังเสียงของพวกเขา แต่เตือนว่าการประท้วงจะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายปฏิปักษ์ต่อรัฐอิสลาม และศาสนาจะต้องไม่ถูกละเมิดระหว่างการประท้วง

นานาประเทศประณามอิหร่านใช้ความรุนแรง
ก่อนหน้านี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่าน ที่มีสำนักงานในนอร์เวย์ เปิดเผยว่า กองกำลังความมั่นคงของอิหร่านการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง ทำให้มีผู้สังเวยชีวิตแล้วเกือบ 80 ศพ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วง
ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวประณามหน่วยงานตำรวจศีลธรรมของอิหร่านว่า ละเมิดสิทธิของกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติ และระบุว่า ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสฝ่ายศีลธรรมและฝ่ายความมั่นคงของอิหร่านจำนวน 7 ราย ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินของอิหร่าน
นางเยลเลน กล่าวยกย่องอามินี ว่าเป็นสตรีผู้กล้าหาญที่เสียชีวิตในระหว่างถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมตัว ซึ่งถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่บ่งชี้ถึงการทารุณกรรมโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิหร่านที่กระทำต่อประชาชน ขณะที่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลอิหร่านจะต้องยุติการกดขี่ข่มเหงสตรีและอนุญาตให้มีการประท้วงอย่างสันติ
นอกเหนือจากปัญหาการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ชาวอิหร่านส่วนใหญ่ต่างโกรธแค้นรัฐบาลจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยอิหร่านได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานพุ่งสูง ในขณะที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับชาติตะวันตกเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์และยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร กำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์
ข้อมูล : Washington Post BBC