• "คัง นารา" เกิดในเกาหลีเหนือ และไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต แต่ทุกวันนี้เธอกลายเป็นดารายูทูบ มีผู้ติดตามกว่า 350,000 คน วิดีโอยอดนิยมของเธอมียอดดูหลายล้านครั้ง บัญชีอินสตาแกรมของเธอซึ่งมีผู้ติดตามถึง 130,000 คน รับโฆษณาสำหรับแบรนด์สินค้าใหญ่ๆ เช่น ชาแนล และพูม่า
  • โมเดลความสำเร็จของคัง ยังสะท้อนผ่านความสำเร็จของผู้แปรพักตร์คนอื่นๆ เช่น คัง อึนจุง ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 177,000 คน, จุน เฮียว ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 270,000 คน ก่อนที่เขาจะปิดช่องในปีนี้ และพัค ซู-ฮยาง ที่มีผู้ติดตาม 45,000 คน ทั้งหมดนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ มากมายสร้างช่องวิดีโอในยูทูบ
  • สำหรับยูทูบเบอร์ที่เป็นผู้แปรพักตร์หลายคน ยังมีอีกเป้าหมายหนึ่งที่มากกว่าการสร้างรายได้ได้อย่างอิสระด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง นั่นก็คือการเชื่อมช่องว่างระหว่างสองเกาหลี มันถือเป็นงานที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ลง เนื่องจากความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการทดสอบอาวุธของเกาหลีเหนือ และการซ้อมรบร่วมระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ

"คัง นารา" เติบโตขึ้นมาในเกาหลีเหนือ และไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต

แม้แต่เพื่อนร่วมชาติที่มีสิทธิพิเศษเพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สมาร์ทโฟน ก็สามารถเข้าถึงอินทราเน็ตได้อย่างจำกัดเท่านั้น ดังนั้น สื่อสังคมออนไลน์อย่าง ยูทูบ, อินสตาแกรม และกูเกิล ก็เป็นสิ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด

ทุกวันนี้คังเป็นดารายูทูบ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 350,000 คน วิดีโอยอดนิยมของเธอมียอดดูหลายล้านครั้ง บัญชีอินสตาแกรมของเธอซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 130,000 คน รับโฆษณาสำหรับแบรนด์สินค้าใหญ่ๆ เช่น ชาแนล และ พูม่า

...

เธอเป็นหนึ่งในผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากหลบหนีเข้าไปในเกาหลีใต้ พวกเขาได้ทำสิ่งที่อาจดูเหมือนเป็นอาชีพที่ไม่น่าเป็นไปได้ ในฐานะผู้ใช้ ยูทูบ และผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากที่ได้ดำเนินตามเส้นทางเดียวกันนี้ เนื้อหาของพวกเขาทำให้คนทั่วไปได้มองเห็นการใช้ชีวิตในดินแดนลี้ลับอย่างเกาหลีเหนือ เช่น อาหารที่ชาวเกาหลีเหนือกิน คำสแลงที่พวกเขาใช้ และกิจวัตรประจำวันของพวกเขา

บางช่องเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น โดยสำรวจความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือกับประเทศอื่นๆ บางช่องก็เจาะลึกถึงคนรวย และสำหรับผู้แปรพักตร์หน้าใหม่ ก็มักจะนำเสนอในประเด็นของโลกของวัฒนธรรมป๊อปและความบันเทิง

แต่สำหรับผู้มีอิทธิพลเหล่านี้หลายคน ซึ่งได้หลบหนีออกมาจากประเทศที่โดดเดี่ยวและยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีการเชื่อมโยงทางดิจิทัลมากที่สุด เส้นทางอาชีพนี้ไม่ได้แปลกอย่างที่คิด

ผู้แปรพักตร์และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ไม่เพียงแต่มอบเส้นทางสู่ความเป็นอิสระทางการเงินเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้สึกถึงความเป็นอิสระและการแสดงตนในขณะที่พวกเขาหลอมรวมเข้ากับโลกใหม่ที่น่าหวาดหวั่น

เส้นทางสู่อิสรภาพ


พัค โซคีล ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหากำไร “Liberty in North Korea” ประจำเกาหลีใต้ กล่าวว่า ผู้แปรพักตร์เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ พวกเขาเริ่มเข้าสู่เกาหลีใต้ "ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ" ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่หลบหนีข้ามพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน

ข้อมูลจากกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1998 มีผู้คนมากกว่า 33,000 คน หลบหนีจากเกาหลีเหนือไปยังเกาหลีใต้ โดยตัวเลขพุ่งสูงสุดที่ 2,914 ในปี 2009

คัง ซึ่งตอนนี้อายุ 25 ปี เป็นหนึ่งในหลายคนที่ร่วมเดินทางครั้งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยง เช่น การค้าประเวณีของจีน การถูกจับและส่งกลับเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้แปรพักตร์อาจถูกทรมาน จำคุก และถึงแก่ชีวิต

คังหนีมายังเกาหลีใต้ในปี 2014 เมื่อตอนเป็นวัยรุ่น โดยเดินทางพร้อมกับแม่ของเธอที่เสียชีวิตไปแล้ว

เธอบอกว่า การใช้ชีวิตช่วงแรกค่อนข้างยาก เหมือนกับหลายๆ คน เธอต้องเผชิญกับความเหงา คัลเจอร์ช็อก และแรงกดดันทางการเงิน ตลาดงานที่มีการแข่งขันสูงของเกาหลีใต้นั้นยากยิ่งกว่าสำหรับผู้แปรพักตร์ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมทุนนิยมและความเกลียดชังจากชาวบ้านบางคน

จากข้อมูลของกระทรวงการรวมชาติ เมื่อปี 2020 ชี้ว่า ผู้แปรพักตร์ 9.4% ตกงาน เทียบกับ 4% ของประชากรทั่วไป

สำหรับคัง จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อเธอเริ่มรับคำปรึกษาและเข้าเรียนในโรงเรียนกับผู้แปรพักตร์คนอื่น ๆ แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นจนกระทั่งเธอปรากฏตัวในรายการทีวีของเกาหลีใต้ ซึ่งนั่นทำให้ชีวิตของเธอ "กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ"

'ทีวีผู้แปรพักตร์’

ในปี 2010 ความสนใจของชาวเกาหลีใต้ที่มีต่อชาวเกาหลีเหนือที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดโทรทัศน์ประเภทใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ "defector TV" ซึ่งผู้แปรพักตร์ได้รับเชิญให้แบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

...

รายการที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ได้แก่ "Now On My Way To Meet You" ซึ่งออกอากาศครั้งแรกในปี 2011 และ "Moranbong Club" ซึ่งออกอากาศในปี 2015

คังปรากฏตัวในทั้งสองรายการ และในช่วงเวลานี้เองที่เธอได้ดูยูทูบเป็นครั้งแรก เธอมีความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะวิดีโอเกี่ยวกับการแต่งหน้า ความงาม และแฟชั่น

ภายในปี 2017 เธอได้สร้างช่องของตัวเอง โดยใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นของเธอ และ "บันทึกชีวิตประจำวันของฉันให้กับคนที่ชอบฉันจากรายการทีวี"

วิดีโอยูทูบของเธอจำนวนมากสำรวจความแตกต่างระหว่างสองเกาหลีในรูปแบบการสนทนาที่ร่าเริง เช่น บรรทัดฐานความงามที่แตกต่างกัน "ในเกาหลีเหนือ หากคุณมีหน้าอกใหญ่ นั่นถือว่าไม่ดี" เธอรู้สึกแปลกใจเมื่อพบเสื้อชั้นในเสริมหน้าอก รวมถึงการทำศัลยกรรมหน้าอกของสาวเกาหลีใต้

ส่วนวิดีโออื่น ๆ จะเป็นการตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับการหลบหนีจากเกาหลีเหนือ เช่น สิ่งที่ผู้หลบหนีนำติดตัวไปด้วย เช่น เกลือนำโชค ภาพถ่ายครอบครัวเพื่อความสบายใจ และยาเบื่อหนูในกรณีที่พวกเขาถูกจับได้ และ "เมื่อคุณรู้ว่าคุณกำลังจะตาย"

ในที่สุดช่องก็ได้รับความนิยม จนเธอได้รับการติดต่อจากบริษัทเอเจนซีสามแห่ง การจ้างโปรดิวเซอร์ผลิตวิดีโอ และเริ่มหาลูกค้าเพื่อเป็นสปอนเซอร์ในอินสตาแกรม "ตอนนี้ฉันมีรายได้ที่มั่นคง" เธอกล่าว

โมเดลแห่งความสำเร็จนี้ ยังสะท้อนผ่านความสำเร็จของผู้แปรพักตร์คนอื่นๆ เช่น คัง อึนจุง ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 177,000 คน, จุน เฮียว ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 270,000 คน ก่อนที่เขาจะปิดช่องในปีนี้ และพัค ซู-ฮยาง ที่มีผู้ติดตาม 45,000 คน ทั้งหมดนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ มากมายสร้างช่องวิดีโอในยูทูบ

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของพวกเขา ตามที่ พัค โซคีล กล่าวคือ ผู้แปรพักตร์ค่อนข้างมีความสามารถในด้านการเป็นผู้ประกอบการ

...

"ผมคิดว่าปัจจัยหนึ่งคือคุณเป็นผู้ควบคุมรายการทั้งหมดเอง คุณไม่ได้รับคำสั่งจากเจ้านายชาวเกาหลีใต้ และต้องเครียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีใต้" เขากล่าว "มันอาจจะยากลำบาก แต่ผู้คนมีสิทธิ์เสรี คุณเป็นเจ้านายของคุณเอง ตามตารางเวลาของคุณเอง"


เรื่องราวตามเงื่อนไขของตัวเอง


Defector TV อาจช่วยเพิ่มความนิยมให้กับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้บางคน แต่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชุมชนผู้แปรพักตร์
บางคนมองว่า "ไม่สมบูรณ์แบบ" แต่เป็นประโยชน์ในการทำให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้ได้รู้จักเพื่อนทางเหนือของพวกเขามากขึ้น แต่คนอื่น ๆ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์รายการทอล์กโชว์ว่าเร้าอารมณ์ พูดเกินจริง ล้าสมัย และไม่ถูกต้อง

ตัวอย่างเช่น การแสดงมักใช้กราฟิกการ์ตูน ฉากพื้นหลังที่ซับซ้อน และเอฟเฟกต์เสียง เช่น เพลงเศร้าที่เล่นในขณะที่ผู้หลบหนีหวนนึกถึงอดีตของพวกเขา

ท้ายที่สุดแล้ว รายการเหล่านี้เป็นรายการบันเทิง ไม่ใช่สารคดี พัคกล่าวเสริมว่า "รายการเหล่านี้จัดทำโดยผู้ผลิตและนักเขียนรายการโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้แปรพักตร์ ไม่มีการควบคุมด้านบรรณาธิการ"

...

ความคับข้องใจกับรูปแบบที่ชาวเกาหลีเหนือถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลัก และความปรารถนาของพวกเขาที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วยเงื่อนไขของตนเอง เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งว่าทำไมผู้แปรพักตร์จำนวนมากจึงหันไปใช้โซเชียลมีเดีย

ผู้แปรพักตร์หลายคนรู้สึกว่า "ชาวเกาหลีใต้มีความเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ หรือมีทัศนคติแบบเหมารวมเกี่ยวกับคนเกาหลีเหนือที่ควรถูกท้าทาย" พัคกล่าว

"ยูทูบอนุญาตให้มีระดับการควบคุมที่แตกต่างกันมาก แค่เราตั้งกล้องในอพาร์ตเมนต์หรือทุกที่ที่เราสามารถถ่ายทำได้ แล้วก็แค่พูดกับผู้ชมโดยตรง"

การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองเกาหลี


สำหรับยูทูบเบอร์ที่เป็นผู้แปรพักตร์หลายคน ยังมีอีกเป้าหมายหนึ่งที่มากกว่าการสร้างรายได้ได้อย่างอิสระด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง นั่นก็คือการเชื่อมช่องว่างระหว่างสองเกาหลี

มันถือเป็นงานที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ลง เนื่องจากความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการทดสอบอาวุธของเกาหลีเหนือ และการซ้อมรบร่วมระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ

ขณะที่บางคนบอกว่า ความตึงเครียดเหล่านี้เป็นสาเหตุว่าทำไม การสร้างเสริมความมีมนุษยธรรมและเชื่อมโยงชาวเกาหลีจึงมีความสำคัญ

คัง อึน-จุง วัย 35 ปี ซึ่งหนีออกจากเกาหลีเหนือในปี 2008 และเริ่มช่องยูทูบของเธอในปี 2019 กล่าวว่า "ฉันเชื่อว่าการบอกเล่าให้ผู้คนทราบเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวเกาหลีเหนือผ่านยูทูบ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในเกาหลีเหนือ"

สำหรับเธอ ยูทูบเป็นวิธีสำหรับการเตือนตัวเองอยู่เสมอ "เกี่ยวกับตัวตนของฉัน ฉันเป็นใคร และฉันมาจากไหน" รวมทั้งสอนผู้คนเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้แปรพักตร์ เธอกล่าวเสริมว่า "ถ้าทั้งสองเกาหลีรวมกัน ฉันต้องการสัมภาษณ์ผู้คนจำนวนมากในเกาหลีเหนือ"

ยังคงมีปัญหาสำหรับผู้ที่หวังจะเชื่อมโยงการแบ่งแยก นั่นก็คือ ผู้ชมของพวกเขาเริ่มมีอายุมากขึ้น อาจเป็นเพราะเนื้อหาของพวกเขาดึงดูดผู้คนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตผ่านสงครามเกาหลีในปี 1950 และช่วงชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

พัคกล่าวว่า "คนรุ่นที่จำได้ว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวกำลังจะจากไป"

นั่นทำให้การสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ในหมู่คนรุ่นใหม่มีเร่งด่วนมากขึ้น

ผู้ชมส่วนใหญ่ของ คัง อึนจุง มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ในขณะที่ของ คัง นารา ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่ค่อนข้างสูงในโลกของโซเชียลมีเดีย

ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนหนุ่มสาวเกาหลีใต้ แทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ในอีกด้านหนึ่งของเขตปลอดทหาร แต่กลับถูกกระหน่ำด้วยหัวข้อข่าวในแง่ลบ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง วาทศิลป์ทางการเมือง และการขู่คุกคามทางทหาร

ด้วยเหตุนี้ พัคจึงกล่าวว่า "คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่รู้จักคนอเมริกันมากกว่าคนเกาหลีเหนือ พวกเขารู้จักคนญี่ปุ่นดีกว่าคนเกาหลีเหนือ พวกเขารู้จักคนจีน ดีกว่าคนเกาหลีเหนือ"

"ดังนั้น การที่เราสามารถกลับมาใช้รูปแบบการติดต่อ ที่สร้างความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจระหว่างคนสู่คนได้อีกครั้ง เช่นการที่ชาวเกาหลีเหนือสร้างช่องยูทูบของตัวเอง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก"

สำหรับคัง นารา ที่ทิ้งเพื่อนหลายคนในเกาหลีเหนือไว้ข้างหลัง และเคยคิดที่จะกลับไปยังประเทศบ้านเกิด ระยะห่างนั้นให้ความรู้สึกส่วนตัวอย่างมาก

เธอกล่าวว่า "ฉันต้องการมีผู้ติดตามที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและผู้คนในวัย 20 ปี มากขึ้น เพราะฉันต้องการให้คนหนุ่มสาวจำนวนมาก ใส่ใจเกี่ยวกับการรวมชาติและสนใจเกาหลีเหนือ"


"ฉันไม่แน่ใจว่า มันอาจสร้างความเป็นไปได้ที่ฉันจะได้กลับไปบ้านเกิดก่อนที่ฉันจะตายได้หรือไม่ แต่ถ้าคนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องการการรวมชาติของสองเกาหลี มันก็อาจจะเป็นจริงได้หรือไม่?”