• กลุ่ม G7 เห็นชอบใช้มาตรการจำกัดราคาน้ำมันของรัสเซียที่ขนส่งทางเรือ โดยจะเริ่มใช้ควบคู่ไปกับมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ของสหภาพยุโรปในเดือนธันวาคมนี้

  • สหรัฐฯ ระบุว่า การจำกัดราคาจะเป็นการตัดรายได้ของรัสเซียที่จะนำไปใช้ในสงคราม โดยที่ไม่ทำให้เกิดวิกฤติอุปกรณ์ แต่นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการนี้พูดง่ายกว่าทำ

  • สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่างเพื่อบังคับใช้มาตรการจำกัดราคา ทั้งเรื่องการบังคับใช้ และการกำหนดราคา ซึ่งอาจทำให้รัสเซียกลับมีรายได้สูงกว่าเดิม

นับตั้งแต่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตัดสินใจหยุดซื้อน้ำมันจากรัสเซีย กลับแทบไม่มีสัญญาณเลยว่า มาตรการนี้จะสร้างความเสียหายมากพอให้ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เปลี่ยนใจเรื่องการทำสงครามในยูเครน หลายประเทศยังคงซื้อน้ำมันดิบรัสเซีย และราคาที่เพิ่มสูงขึ้นก็ยิ่งทำให้ผลกระทบจากการคว่ำบาตรเศรษฐกิจมอสโกลดลง

สหรัฐฯ กับพันธมิตรจึงคิดจะใช้แผนการใหม่ เพื่อเล่นงานรัสเซีย ด้วยการจำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซียในตลาดโลกผ่านบริษัทเดินเรือ ทำให้รัสเซียต้องขายน้ำมันของตัวเองในราคาถูกแสนถูก จนไม่สามารถนำเงินมาใช้เป็นทุนสำหรับทำสงครามได้อีก ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้ง 7 หรือที่เรียกว่า G7 ได้ตกลงเห็นชอบการใช้แผนนี้แล้ว

นักวิเคราะห์ระบุว่า แผนล่าสุดของชาติตะวันตกในการเล่นงานรัสเซีย เป็นแผนการที่ดีแต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น เพราะการนำแผนไปบังคับใช้จริงมีความซับซ้อนอย่างมาก นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายประเทศ และมันยังอาจส่งผลสะท้อนกลับ ทำให้ประเทศต่างๆ แห่ไปซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียแทน

...

ประเทศ G7 จำกัดราคาน้ำมันรัสเซีย

กลุ่ม G7 ตกลงกันในวันศุกร์ที่ 2 ก.ย. 2565 ว่า จะบังคับใช้มาตรการ ตั้งเพดานจำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซียในตลาดโลกผ่านบริษัทเดินเรือ ด้วยเหตุผลว่า เพื่อลดความสามารถของรัฐบาลมอสโกในการหาทุนสนับสนุนสงครามในยูเครน โดยที่ไม่ทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงไปมากกว่านี้

เหล่ารัฐมนตรีคลังจากกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสหราชอาณาจักร ระบุในแถลงการณ์ร่วมกันว่า มาตรการนี้จะบังคับให้บริษัทที่รับขนส่งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากรัสเซียต้องขายในราคาที่ไม่เกินกว่าระดับที่ตกลงกันไว้ มิเช่นนั้นจะถูกแบน

พวกเขาระบุด้วยว่า ราคาสูงสุดจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ควบคู่ไปกับมาตรการคว่ำบาตรลอตใหม่ของสหภาพยุโรป ที่จะแบนการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียทางทะเล เริ่มตั้งแต่ 5 ธ.ค. นี้ และแบนผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ตั้งแต่ 5 ก.พ. ปีหน้า แต่ยังไม่มีการกำหนดราคาสูงสุดแต่อย่างใด

แผนการไร้ที่ติ ในทางทฤษฎี

นายแดเนียล อาร์. ดีเปตริส นักวิเคราะห์จากองค์กร Defense Priorities และคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์ข่าว Newsweek ระบุว่า แผนของกลุ่ม G7 คือการจำกัดราคาสูงสุดที่ผู้นำเข้าต้องจ่ายในการซื้อน้ำมันดิบของรัสเซีย ซึ่งรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ อ้างว่า จะลดมูลค่าของน้ำมันรัสเซีย แต่ไม่ทำให้อุปทานน้ำมันโลกดิ่งลง

นี่ดูเหมือนเป็นแนวคิดที่ไร้ที่ติ “ในทางทฤษฎี” ถ้าหากวอชิงตันกับเหล่าหุ้นส่วนในยุโรปสามารถรวบรวมกลุ่มผู้ซื้อที่จะมาตกลงราคาร่วมกัน หรือ buyer's cartel ได้กว้างขวางมากพอ และสามารถบังคับบริษัทขนส่งให้ขายน้ำมันตามเพดานราคาได้จริง รัสเซียจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงในตอนนี้ได้อีกต่อไป และจะเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

ก่อนหน้านี้ คาดกันว่ารัสเซียจะทำรายได้จากการส่งออกน้ำมันถึง 3.37 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2564 ถึง 38% ขณะที่การจำกัดราคาจะทำให้รัสเซียยังสามารถส่งออกน้ำมันแก่ลูกค้าทั่วโลกต่อไปได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติพลังงาน ต่างกับการใช้มาตรการแบนน้ำมันรัสเซีย

...

พูดง่ายกว่าปฏิบัติจริง

แต่คำถามสำคัญคือ แผนนี้เมื่อนำไปปฏิบัติจริงแล้วจะได้ผลหรือไม่ เพราะมีหลายเรื่องที่ยังต้องจัดการ อย่างแรกคือ สหภาพยุโรป ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในแผนจำกัดราคาน้ำมันของกลุ่ม G7 ด้วย จำเป็นต้องเจรจากันเป็นการภายในอีกครั้งเพื่อหาความชัดเจน เพราะการจำกัดราคานั้นไม่สอดคล้องกับมาตรคว่ำบาตรของพวกเขา ที่ไม่เพียงแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซียเท่านั้น แต่ยังห้ามผู้ให้บริการใน EU ทำประกันภัยทางทะเลและการขนส่งแก่เรือที่ขนน้ำมันรัสเซียด้วย

ฮังการี ชาติสมาชิก EU แต่เป็นมิตรกับรัสเซีย อาจฉวยโอกาสยืดเยื้อการเจรจาไปนานหลายสัปดาห์ จนกระทั่งพวกเขาได้รับการยกเว้นจากมาตรการจำกัดราคา ซึ่งนั่นอาจทำให้ชาติสมาชิกอื่นๆ พยายามเอาอย่าง และทำให้พวกเขาต้องกลับมาเจรจากันใหม่อีกหลายเดือน

อย่างที่สอง การนำมาตรการจำกัดราคาไปปฏิบัติ ไม่ใช่แค่กำหนดราคาขึ้นมาแล้วหวังให้บริษัทเดินเรือต่างๆ ที่รับผิดชอบในการขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียไปให้ผู้ซื้อต่างประเทศทำตาม จำเป็นต้องมีการบังคับใช้ด้วย และเนื่องจากบริษัทประกันของ EU และ UK ดูแลครอบคลุมเรือบรรทุกน้ำมันกว่า 90% ทั่วโลก สหรัฐฯ จึงถกเถียงกับกลุ่ม G7 ว่า ควรบังคับใช้มาตรการด้วยการระงับประกันภัยของเรือที่ไม่ทำตามมาตรการจำกัดราคา

แต่บริษัทประกันก็เหมือนบริษัททั่วไป ที่ชอบความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หากข้อบังคับและกระบวนการมีความคลุมเครือ พวกเขาก็อาจจะเลิกทำประกันให้การขนส่งน้ำมันของรัสเซียไปทั้งหมดเลย เพื่อปกป้องตัวเองจากปัญหาทางกฎหมาย และจะทำให้น้ำมันดิบรัสเซียจำนวนมากหายไปจากตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นอีกรอบ

การกำหนดเพดานราคาสูงสุดก็เป็นเรื่องน่าปวดหัวเช่นกัน ชาติตะวันตกต้องกำหนดราคาให้สูงพอที่จะยังสร้างแรงจูงใจให้รัสเซียผลิตน้ำมันในอัตราเท่าเดิม แต่ก็ต้องต่ำพอที่จะสร้างความเสียหายต่องบประมาณของรัสเซียอย่างหนัก นอกจากนั้นหากราคาน้ำมันดิบของรัสเซียลดต่ำเกินไปจนดึงดูดผู้ซื้อเข้าหามากขึ้น ก็อาจทำให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นแทน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า ต่อให้รัสเซียขายน้ำมันในราคา 25-30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พวกเขาก็ยังมีกำไร ทำให้ความลำบากตกไปอยู่กับซัพพลายเออร์เจ้าอื่นๆ ที่ต้องหาทางหั่นราคาลงมาสู้ เพราะใครจะซื้อน้ำมันตามราคาตลาดปัจจุบันที่ 90-95 ดอลลาร์ หากน้ำมันรัสเซียราคาถูกขนาดนั้น?

...

ระวังการตอบโต้ของปูติน

สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ปูตินจะตอบโต้การจำกัดราคาครั้งนี้อย่างแน่นอน แม้ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าเขาจะทำอะไร เขาอาจสั่งลดการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าและทำให้วิกฤติราคาพลังงานที่ชาติตะวันตกเผชิญอยู่แล้วรุนแรงขึ้นไปอีก

รัสเซียใช้แผนนี้มาแล้วกับการผลิตก๊าซธรรมชาติ โดยพวกเขาลดการส่งก๊าซผ่านท่อ ‘นอร์ด สตรีม 1’ ให้แก่ยุโรปลงเหลือ 40% และ 20% ตามลำดับเพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก และล่าสุดพวกเขาก็ปิดท่อส่งก๊าซนี้อย่างไม่มีกำหนด อ้างว่าต้องแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลจากเครื่องยนต์เทอร์ไบน์ และที่การซ่อมแซมล่าช้าก็เพราะการคว่ำบาตรของตะวันตกเอง

การลดส่งก๊าซของรัสเซียทำให้ราคาก๊าซในยุโรปเพิ่มขึ้นมากกว่า 733% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าไฟครัวเรือนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และทำให้ EU ต้องจำกัดการใช้พลังงานเพื่อสงวนไว้ใช้ในฤดูหนาว





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : CNA, reuters, newsweek

...