• ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์จะมีประชากรกว่า 5,000 ล้านคน ที่ต้องสังเวยชีวิตจากภาวะอดอยาก เพราะเขม่าจากนิวเคลียร์ จะปิดกั้นแสงแดด กระทบต่อการผลิตอาหาร และการดำรงชีวิต
  • ผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งระหว่างไต้หวัน-จีน รัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ-รัสเซีย ที่เสี่ยงที่จะจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ 


“วันนี้มนุษยชาติอยู่ห่างจากการทำลายล้างของนิวเคลียร์เพียงแค่ ความเข้าใจผิด หรือ การคำนวณผิดพลาด แค่ครั้งเดียวเท่านั้น” นี่คือคำพูดของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในพิธีเปิดประชุมว่าด้วยสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ที่กลายเป็นข่าวพาดหัวของสื่อมวลชนทุกแขนง ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดจากสงครามรัสเซียยูเครน ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ตลอดจนเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เป็นตัวเร่งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสงครามได้ง่ายๆ โดยเฉพาะสงครามนิวเคลียร์ เนื่องจากในยุคหลังแต่ละประเทศต่างทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันทั่วโลกมีหัวรบนิวเคลียร์เก็บอยู่ในคลังมากกว่า 13,000 ลูก ทำให้ความเสี่ยงที่จะมีการนำอาวุธเหล่านี้ออกมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยชาติที่ทุ่มงบด้านอาวุธนิวเคลียร์สูงที่สุด คือ สหรัฐอเมริการาว 1.5 ล้านล้านบาท รองลงมาคือจีน 4.1 แสนล้านบาท ส่วนรัสเซียอยู่ในอันดับ 3 ใช้งบประมาณกับอาวุธนิวเคลียร์ไป 3 แสนล้านบาท

...


ด้านผลจากการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ฟู้ด ได้คำนวณว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริงจะมีประชากรกว่า 5,000 ล้านคนหรือราว 75 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ต้องเผชิญภาวะอดอยากจนถึงตายภายในเวลาเพียง 2 ปี เพราะเมื่อเกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่ และพ่นเขม่าสู่ชั้นบรรยากาศ เขม่าจะปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องลงมาบนพื้นผิวโลก และส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตอาหาร

โดยการศึกษาครั้งนี้มีการพิจารณาสถานการณ์จำลองออกเป็น 6 เหตุการณ์ โดยใช้ปัจจัยของขนาดของหัวรบนิวเคลียร์ที่ต่างกัน โดยมีการจับคู่ประเทศคู่ขัดแย้งเล็กๆอย่างอินเดีย-ปากีสถาน ไปจนถึงคู่ขัดแย้งมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย พบว่าแม้ในสถานการณ์จำลองที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพไม่รุนแรงมากระหว่างอินเดียและปากีสถาน ก็ยังส่งผลให้การผลิตพลังงานเฉลี่ยของโลกลดลงราว 7 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 5 ปี และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสงครามนิวเคลียร์ทันที 52 ล้านคน ขณะที่ในสถานการณ์จำลองขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ จะส่งผลให้การผลิตพลังงานเฉลี่ยของโลก ลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หลังการสู้รบผ่านไปราว 3-4 ปี 

ขณะที่สถานการณ์รบพุ่งที่เกิดขึ้นจริงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปในเวลานี้กำลังเข้าสู่จุดที่ควบคุมไม่ได้ และเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสู้รบระหว่างยูเครน และรัสเซีย ก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิตธัญพืชทั่วโลกมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งกระทบโดยตรงกับประชากรในแอฟริกา ตะวันออกกลางที่เสี่ยงภาวะขาดแคลนอาหาร และยังทำให้ราคาธัญพืชทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นด้วย

ศาสตราจารย์ อลัน โรบัก หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศแห่งมหาวิทยาลัย รัตเกอร์ส ที่วิเคราะห์สงครามในยูเครน ระบุว่า ข้อมูลที่พบ ชี้ให้เห็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งว่า ทุกคนต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นอย่างเด็ดขาด

...

ลี่ลี่ เซี่ย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ระบุว่า แม้ว่าการศึกษาครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่ จำนวนของพลังงานที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลกเท่านั้น แต่มนุษย์ก็ยังต้องการโปรตีน และสารอื่นๆ ประกอบกันด้วยเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ สงครามนิวเคลียร์จะสร้างผลกระทบที่ใหญ่กว่านั้น ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยชั้นโอโซนจะถูกทำลายจากความร้อนในชั้นสตาร์โตรสเฟียร์ ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตลงมาสู่โลกโดยตรง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขณะเดียวกันในช่วงแรกของการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และพ่นเขม่าสู่ชั้นบรรยากาศ เขม่าเหล่านั้นจะปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องลงมาบนพื้นผิวโลก ส่งผลกระทบต่อการการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ได้พิจารณาถึงผลกระทบหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศ พืชผล และการประมง เพื่อจะคำนวณได้ว่าการผลิตอาหารโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดภายใต้สถานการณ์ที่มีสงครามนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับความอดอยาก และการขาดแคลนอาหารในเกือบทุกประเทศเท่านั้น และนับเป็นเพียงความสูญเสียส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากสงครามนิวเคลียร์ เพราะยังมีผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสี และผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง และคงไม่มีประเทศใดเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริงจากสงครามที่มีแต่ความสูญเสียเช่นนี้

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

...