ทีมแพทย์บราซิลร่วมกับอังกฤษประสบความสำเร็จในการผ่าตัดแยกศีรษะของเด็กแฝดอายุ 3 ขวบได้สำเร็จ หลังฝึกฝนผ่านเทคโนโลยี VR โดยต้องใช้เวลาในการผ่าตัดนานถึง 27 ชั่วโมง

ทีมแพทย์บราซิลและอังกฤษประสบความสำเร็จในการผ่าตัดแยกศีรษะของเด็กชายอาร์ตูร์ ลิมา และเด็กชายแบร์นาดู ลิมา วัย 3 ขวบ เด็กชายฝาแฝดที่มีศีรษะติดกันตั้งแต่กำเนิด โดยการผ่าตัดครั้งสุดท้ายที่สถาบันด้านสมองเปาโล นีไมเยอร์ ในนครรีโอ เดจาเนโร ของบราซิล ใช้เวลานานถึง 27 ชั่วโมง แพทย์จึงสามารถแยกศีรษะของเด็กทั้ง 2 คน ออกจากกันได้อย่างปลอดภัย หลังจากผ่าตัดมาก่อนหน้านี้แล้ว 6 ครั้ง รวมทีมแพทย์ที่ร่วมในการผ่าตัดทั้งหมดเกือบ 100 คน

นายแพทย์ เอลเลียส ทานัส ศัลยแพทย์ระบบประสาท หนึ่งในทีมแพทย์เปิดเผยว่า การผ่าตัดครั้งนี้มีความซับซ้อน และไม่สามารถเปิดตำราทำตามได้ โดยต้องมีการวิเคราะห์ระบบหลายอย่างในร่างกาย มีการจำลองรูปสามมิติ เพื่อจะได้นึกภาพตามและหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับเคสนี้ โดยศัลยแพทย์ต้องใช้เวลาหลายเดือน ในการทดลองเทคนิคต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ VR ก่อนที่การผ่าตัดจริงจะเริ่มขึ้นโดยการผ่าตัดครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษ นำโดยนายแพทย์ นูร์ อูล โอวาเซ จีลานี ศัลยแพทย์จากองค์กร Gemini Untwined ซึ่งได้ร่วมวางแผนผ่าตัด ตลอดจนบินมาร่วมการผ่าตัดจริงที่บราซิล

...

ด้านแกเบรียล โมฟาร์เร็จ ศัลยแพทย์ระบบประสาทหนึ่งในทีมแพทย์อีกคนระบุว่า แม้เขาจะเชื่อว่าการผ่าตัดครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ไม่เคยมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นเคสที่ยากมาก อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีความหวังและความศรัทธา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่พวกเขาสามารถแยกศีรษะเด็กทั้งคู่ออกจากกันได้ พร้อมยอมรับว่า เป็นการผ่าตัดที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งในวงการแพทย์ของบราซิล

ทั้งนี้ จากสถิติอัตราการเกิดของแฝดสยามจาก Gemini Untwined ชี้ว่า กรณีการเกิดแฝดสยาม หรือแฝดที่มีอวัยวะบางส่วนติดกันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก มีเพียงการเกิด 1 ใน 60,000 ครั้งเท่านั้น ส่วนแฝดสยามที่มีกะโหลกหรือสมองติดกัน มีเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าว โดยเด็กชายอาร์ตูร์ และเด็กชายแบร์นาดูมีเส้นเลือดบางส่วนเชื่อมต่อกัน โดยเส้นเลือดดังกล่าวส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจของเด็กชายทั้งคู่ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต ซึ่งหลังจากนี้ทั้งคู่จะเริ่มกระบวนการพักฟื้นต่อไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด.

ที่มา : เอพี