การเดินทางเยือนไต้หวันครั้งประวัติศาสตร์ของ แนนซี เพโลซี ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และจีนทันที โดยจีนประกาศจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อทางการสหรัฐฯแล้ว

ทันทีที่ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สตรีที่มีตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของสหรัฐฯ สร้างประวัติศาสตร์เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในรอบ 25 ปี ทางการจีนก็แสดงท่าทีไม่พอใจและประท้วงทันที เพราะการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางเยือนไต้หวันซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน ถือเป็นการให้การยอมรับอำนาจอธิปไตยของดินแดนดังกล่าว พร้อมทั้งยังประกาศจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯด้วย

ขณะที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามจะคลี่คลายความตึงเครียดลงด้วยการประกาศว่า การเดินทางเยือนของ นางเพโลซี ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนของอเมริกาที่สนับสนุนนโยบายจีนเดียว แต่ยังสามารถที่จะเชื่อมความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไทเปได้

ทำไมนางเพโลซีถึงเดินทางไปไต้หวัน

เหตุผลที่ทำให้นางเพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันท้าทายจีนเช่นนี้ ก็เพื่อต้องการแสดงถึงจุดยืนที่ตนเองให้การสนับสนุนความเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังเช่นที่เคยทำเมื่อปี พ.ศ.2534 หรือ 31 ปีก่อน หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งทางการจีนปราบปรามนักศึกษาประชาชน ครั้งนั้นนางเพโลซีพร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ กลุ่มหนึ่ง ลงไปถือป้ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน จุดเดียวกับที่เกิดเหตุนองเลือด จนเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนต้องเข้ามาเชิญตัวออกไป

นางเพโลซี ได้กล่าวถึงการเยือนไต้หวันในครั้งนี้ว่า นี่เป็นช่วงที่โลกกำลังต้องเลือกระหว่าง อัตตาธิปไตย กับ ประชาธิปไตย หลังจากที่เธอเพิ่งเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ นางเพโลซี ยังได้แสดงความเห็นกับวอชิงตันโพสต์ สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ ทันทีที่เธอเดินทางถึงไต้หวัน โดยอ้างอิงคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ที่เคยมีต่อไต้หวัน ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ปี 1979 (พ.ศ.2522) ว่า "พวกเราต้องยืนเคียงข้างไต้หวัน และจำเป็นที่อเมริกาและชาติพันธมิตรจะต้องแสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยอมก้มหัวให้กับการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเด็ดขาด" โดยเที่ยวบินกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่นำนางแนนซี เพโลซีไปเยือนไต้หวัน ได้ออกเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ และบินอ้อมทะเลจีนใต้ ก่อนที่จะลงจอดที่ไทเปเมื่อคืนที่ผ่านมา และได้เข้าพบหารือกับ นางไช่ อิงเหวิน ในวันนี้แล้ว

...

ท่าทีและจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันเป็นอย่างไร

รัฐบาลภายใต้การนำของ นายโจ ไบเดน และนางเพโลซี ย้ำเตือนหลายครั้งว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมันต่อนโยบายจีนเดียว หรือ “one-China policy” เสมอมา อย่างไรก็ตาม นายไบเดน ไม่ได้มีการคัดค้านอย่างเปิดเผยต่อการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี และระบุว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนางเพโลซีว่าจะเดินทางไปหรือไม่

ไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่แยกการปกครองจากกันในช่วงสงครามกลางเมือง เมื่อปี 1949 (พ.ศ.2492) แต่จีนยังคงถือว่าเกาะไต้หวันยังเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และไม่ปฏิเสธที่จะใช้กำลังทหารยึดคืนมา โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนได้เพิ่มแรงกดดันทางการทูตและการทหารยิ่งขึ้น โดยตัดขาดการสื่อสารกับรัฐบาลไต้หวันทุกทางในปี 2016 (พ.ศ.2559) หลังจาก ไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน และปฏิเสธที่จะรับรองให้ไต้หวันรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจีน

โดยทางการกรุงปักกิ่งมองว่า เมื่อมีคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ ติดต่อกับไต้หวัน จะถือเป็นความพยายามของไต้หวันที่จะแยกตัวเป็นเอกราชอย่างถาวร แม้ว่าผู้นำสหรัฐฯ จะยืนยันว่าไม่สนับสนุนแนวทางนี้ก็ตาม โดยก่อนหน้าที่นางเพโลซีจะออกเดินทาง กองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก็มีความเคลื่อนไหว ด้วยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินรบ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน เคลื่อนเข้ามายังทะเลฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีเรือยูเอสเอส แอนทีทัม และเรือพิฆาต ยูเอสเอส ฮิกกินส์ เดินทางจากสิงคโปร์ขึ้นเหนือไปยังท่าจอดเรือในญี่ปุ่น เรือเหล่านี้มีเครื่องบินรบเอฟ/เอ-18 เฮลิคอปเตอร์ ระบบเรดาร์ และอาวุธอื่นๆ ติดตั้งประจำการอยู่ด้วย

จีนดำเนินการตอบโต้อย่างไรบ้าง

ทางการจีนประกาศจะมีปฏิบัติการทางทหารและมีการซ้อมรบครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคมนี้ หลังจากที่จีนซ้อมรบในบริเวณชายฝั่งที่ติดกับไต้หวันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าเป็นการตอบโต้ที่ไต้หวันอนุญาตให้เครื่องบิน C-40C ของ แนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวันได้ โดยจะเห็นว่าพื้นที่ที่จะปฏิบัติการทางทหารราว 6 จุดนี้ อยู่ล้อมรอบเกาะไต้หวัน และอยู่ใกล้กับชายฝั่งไต้หวันด้วย โดยจะมีการยิงกระสุนพิสัยไกลในช่องแคบไต้หวันด้วย

ขณะที่กระทรวงกลาโหมของไต้หวันระบุเมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า จีนได้ส่งเครื่องบิน 21 ลำ มายังไต้หวัน ในจำนวนนี้ 18 ลำเป็นเครื่องบินรบ ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องบินเตือนภัย และเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์

มีความเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้า?

ทั้งประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่างก็มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น โดยจากการต่อสายพูดคุยกันระหว่างทั้งสองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสีได้สะท้อนการพูดคุยระหว่างทั้งคู่ว่า ทั้งสองประเทศควรจะมีการประสานความร่วมมือกันในทุกด้านเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยความเสี่ยงที่จะมีการเผชิญหน้ากันอาจจะเพิ่มขึ้นได้ หากเกิดอุบัติเหตุจากการที่จีนซ้อมรบในขณะที่กองกำลังทหารของชาติอื่นๆ กำลังอยู่รอบๆ ทะเลจีนใต้ และอาจจะเกิดการเผชิญหน้ากันโดยไม่ตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีกองกำลังทางทหารที่แข็งแกร่ง จีนก็น่าจะต้องระมัดระวังที่จะดำเนินการใดๆ ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันได้ และวิธีการที่ดีที่สุดคือการอดทนและรอเวลา จนกว่าเศรษฐกิจและกองทัพของจีนจะเติบโตและแข็งแกร่งจนแซงหน้าสหรัฐฯ.

...