เลขาฯ ยูเอ็นเตือน โลกกำลังเผชิญอันตรายจากนิวเคลียร์ระดับสูงสุดนับตั้งแต่สงครามเย็น ระดับที่การคำนวณผิดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เกิดการทำลายล้างครั้งใหญ่
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ กล่าวเตือนในพิธีเปิดการประชุมสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ว่าโลกกำลังเผชิญอันตรายจากนิวเคลียร์ในระดับที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
นายกูเตร์เรส พูดถึงวิกฤติสงครามรัสเซียยูเครน, ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง แสดงความกังวลว่า วิกฤติเหล่านี้จะทำให้หายนะนิวเคลียร์เกิดเร็วขึ้น
“วันนี้ มนุษยชาติอยู่ห่างจากการทำลายล้างของนิวเคลียร์เพียงแค่ความเข้าใจผิด หรือคำนวณผิดพลาดแค่ครั้งเดียวเท่านั้น” นายกูเตร์เรส กล่าว “ที่ผ่านมาเราโชคดีมากๆ แต่โชคไม่ใช่แผนการ หรือโล่ป้องกันจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังควบคุมไม่ได้ และเข้าใกล้ความขัดแย้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น”
ทั้งนี้ สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เป็นข้อตกลงระดับนานาชาติ เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2513 เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ โดยนี่เป็นการประชุมเพื่อทบทวนสนธิสัญญาครั้งที่ 10 ซึ่งถูกเลื่อนมาหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
นายกูเตร์เรส กล่าวด้วยว่า การประชุมนี้คือโอกาสเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สนธิสัญญา NPT และทำให้มันเหมาะสมกับความกังวลในโลกมากขึ้น เขายังเรียกร้องให้นานาประเทศ นำพามนุษยชาติไปบนเส้นทางใหม่สู้โลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
“การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์เป็นการรับประกันเพียงอย่างเดียวว่าพวกมันจะไม่มีวันถูกใช้งาน” เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว “ตอนนี้ มีอาวุธนิวเคลียร์เกือบ 13,000 ลูกอยู่ในคลังแสงทั่วโลก ในขณะที่ความเสี่ยงที่มันจะเพิ่มจำนวนกำลังเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับการป้องกันที่กำลังอ่อนแอลง”
...
ที่มา : CNA