• ก่อนหน้านี้เกิดข่าวลือว่า นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ อาจเดินทางเยือนไต้หวัน ในระหว่างการเดินทางเยือนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ทำเนียบขาว 
  • เมื่อกว่า 30 ปีก่อน นางเพโลซี เคยเดินทางเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง พร้อมแสดงป้ายผ้าที่มีข้อความแสดงความเสียใจต่อผู้ประท้วงที่ถูกรัฐบาลจีนปราบปรามอย่างหนัก ทำให้ทางการจีนกล่าวประณามว่า "เต็มไปด้วยคำโกหกและการบิดเบือนข้อมูล"
  • นางเพโลซี ยังเคยคัดค้านการเสนอตัวของจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ย้อนไปเมื่อปี 1993 โดยอ้างเหตุผลเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรพิธีเปิดมหกรรมโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง แต่ไม่เป็นผล

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ ซึ่งข่าวลือที่ว่าเธอจะเดินทางเยือนไต้หวัน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ทำเนียบขาว มีประวัติวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนมาอย่างยาวนาน

เหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นในปี 1991 หรือสองปีหลังจากการประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่งได้ถูกรัฐบาลจีนปราบปรามอย่างหนัก เธอได้ไปเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมินและแสดงป้ายเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ประท้วงที่เสียชีวิต

ด้านรัฐบาลจีนได้แสดงการดูถูกเหยียดหยามต่อนางเพโลซีอย่างเปิดเผย พร้อมทั้งกล่าวประณามว่า "เต็มไปด้วยคำโกหกและการบิดเบือนข้อมูล"

จีนมองว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในมณฑลของตนที่มีพื้นที่แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ จีนพยายามแสดงความกดดันอย่างมากในการห้ามไม่ให้ประเทศอื่นรับรองความเป็นเอกราชของไต้หวัน ได้เตือนถึงผลกระทบร้ายแรงหากนางเพโลซีเยือนไต้หวัน

...

เธอเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจในลำดับที่สองในตำแหน่งประธานาธิบดี รองจากรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และจะเป็นนักการเมืองที่อาวุโสที่สุดของสหรัฐฯ ที่จะเดินทางไปไต้หวัน นับตั้งแต่ นายนิวท์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางไปเมื่อปี 1997

สำนักงานของนางเพโลซี แจ้งว่า นางเพโลซีกำลังนำคณะผู้แทนในรัฐสภาสหรัฐฯ เดินทางไปภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงการเยือนสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น การตระเวนเยือนครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความมั่นคงร่วมกัน ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ โดยไม่ได้กล่าวถึงไต้หวันแต่อย่างใด

ขณะที่ นางเพโลซีเองไม่ยอมตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องแผนการเยือนไต้หวัน โดยกล่าวว่า เธอไม่เคยเปิดเผยตารางการเดินทาง เพราะจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงสูง แม้แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็มีรายงานว่า พยายามห้ามไม่ให้เธอทำเช่นนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "กองทัพคิดว่าไม่ใช่ความคิดที่ดี"

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นางเพโลซีได้ทำให้ทางการจีนไม่พอใจ


การเดินทางเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 1991

สองปีหลังจากผู้ประท้วงถูกกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง นางเพโลซี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ไปเยือนกรุงปักกิ่ง

เธอได้แอบแยกตัวจากการคุ้มกันของเจ้าหน้าที่จีนพร้อมกับสมาชิกรัฐสภาอีกสองคน และมุ่งหน้าไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน

ที่นั่น พวกเขาคลี่แบนเนอร์สีดำขนาดเล็กออก พร้อมข้อความที่เขียนด้วยลายมือว่า "แด่ผู้ที่เสียชีวิตเพื่อประชาธิปไตยในจีน"

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้ามปรามอย่างรวดเร็ว พร้อมรวบตัวนักข่าวที่กำลังรายงานข่าว และไล่ทั้งหมดออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ในเวลาต่อมา กระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวประณามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "เรื่องตลกที่มีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า"

หลายคนได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของนางเพโลซีระหว่างการเยือนครั้งนั้น หนึ่งในนั้นคือ นายไมค์ ชีนอย อดีตหัวหน้าสำนักงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นประจำกรุงปักกิ่ง ได้เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศว่า เธอเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ

นายชีนอย กล่าวว่า เขาไม่ทราบว่านางเพโลซีวางแผนจะทำอะไรที่จัตุรัส และเขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากตำรวจไม่สามารถระบุได้ว่าใครคือบุคคลสำคัญที่มาเยือนจากต่างประเทศได้

เขากล่าวว่า "มันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมกับการแสดงออกทางการเมืองของนางเพโลซี ซึ่งพยายามสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา"

นางเพโลซี ซึ่งเป็นผู้นำในการลงมติประณามการกระทำของจีนในปี 1989 ยังคงพูดถึง "การสังหารหมู่" ผู้ประท้วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เธอออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 33 ปีของการประท้วงในปีนี้ โดยเรียกการประท้วงว่า "หนึ่งในการกระทำที่กล้าหาญทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" และประณาม "ระบอบกดขี่" ของพรรคคอมมิวนิสต์


จดหมายถึงหู จิ่นเทา

...

ในการพบปะกับรองประธานาธิบดีหู จิ่นเทา รองประธานาธิบดีจีนในขณะนั้นในปี 2545 นางเพโลซี พยายามส่งจดหมายสี่ฉบับที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกักขังและการจำคุกนักเคลื่อนไหวในจีนและทิเบต และเรียกร้องให้ปล่อยตัว

แต่นายหูปฏิเสธที่จะยอมรับจดหมายฉบับดังกล่าว

เจ็ดปีต่อมา มีรายงานว่า นางเพโลซี ได้ส่งจดหมายถึงนายหู ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีน อีกฉบับถึงมือ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมถึงนายหลิวเสี่ยวป๋อ นักเคลื่อนไหวที่มักแสดงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน

นายหลิว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2010 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปนอร์เวย์เพื่อรับรางวัล เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2017 ขณะที่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของจีน


คัดค้านโอลิมปิกจีน


นางเพโลซี ได้คัดค้านการเสนอตัวของจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ย้อนไปเมื่อปี 1993 โดยอ้างเหตุผลเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกร้องให้อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แสดงการคว่ำบาตรพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนของจีนในปี 2008 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

...

ในปีนี้ นางเพโลซีในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกร้องให้มี "การคว่ำบาตรทางการทูต" ต่อมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่ง เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในประเทศจีน

นางเพโลซี กล่าวว่า "สำหรับประมุขแห่งรัฐที่จะไปยังประเทศจีนท่ามกลางสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้น-ในขณะที่คุณนั่งอยู่ที่นั่น-ถามคำถามจริงๆ คุณต้องใช้อำนาจทางศีลธรรมอะไรมาพูดอีกครั้งเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ใดก็ได้ในโลก?"

โฆษกของสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวตอบโต้ว่า นักการเมืองสหรัฐฯ ไม่สามารถ "วิจารณ์อย่างไร้เหตุผล" ต่อจีนได้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นางเพโลซีได้ผลักดันให้สถานะการค้าของจีนเชื่อมโยงกับบันทึกด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ และแนบเงื่อนไขกับการเข้าสู่องค์การการค้าโลกของจีน

นโยบายนี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก โดยนายจอร์จ บุช แสดงการคัดค้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายครั้ง ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ให้การสนับสนุนในขั้นต้น แต่ต่อมาก็ละทิ้งไป โดยกล่าวว่าผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ในวงกว้างของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการพลิกกลับ.

ที่มา: บีบีซี