- รัสเซียประกาศเตรียมถอนตัวจากโครงการความร่วมมือสถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากปี 2024 ท่ามกลางความขัดแย้งจากปัญหาสงครามยูเครน ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความร่วมมือวิจัยด้านอวกาศของนานาประเทศว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
- สถานีอวกาศนานาชาติ ก่อสร้างเมื่อปี 1998 และเริ่มมีนักบินอวกาศไปประจำการในปี 2000 และมีแผนปลดประจำการในปี 2030 นับเป็นความร่วมมือที่มีมาอย่างอย่างนานระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย และประเทศต่างๆ ท่ามกลางสงครามเย็น และยุคการแข่งขันด้านอวกาศ
- รัสเซียและสหรัฐฯ เป็นสองประเทศล่าสุดที่มีแผนสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง ดำเนินการเป็นเอกเทศ เช่นเดียวสถานีอวกาศของจีน ที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการปลายปีนี้
สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station-ISS) เป็นโครงการความร่วมของหน่วยงานด้านอวกาศ 5 แห่ง ได้แก่องค์การ NASA สหรัฐฯ, Roscosmos ของรัสเซีย, JAXA ของญี่ปุ่น, ESA ของยุโรป และ CSA ของแคนาดา และเป็นความร่วมมือของ 15 ประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ถูกส่งขึ้นวงโคจรต่ำรอบโลกเมื่อปี 1998 ผ่านช่วงสงครามเย็น และช่วงการแข่งขันด้านอวกาศของนานาประเทศมาได้เป็นเวลานานถึง 23 ปี งานวิจัยในอวกาศถูกนำมาพัฒนาต่อยอดช่วยรักษาโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ และอีกมากมาย
ที่ผ่านมานักบินอวกาศสหรัฐฯ และรัสเซีย บนสถานีอวกาศมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความท้าทายจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศบนพื้นโลกที่ย่ำแย่อย่างมาก
...
แต่สงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ดุเดือดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกออกมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรและกดดันรัสเซียอย่างหนัก จนล่าสุดรัสเซียทนไม่ไหว ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากโครงการความร่วมมือสถานีอวกาศหลัก
นายยูริ บอริซอฟ ผู้อำนวยการรอสคอสมอสคนใหม่ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในเดือนนี้ กล่าวว่า จะแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ หลังรัสเซียตัดสินใจว่าจะถอนตัวจากสถานีไอเอสเอสในอีก 2 ปีข้างหน้าและเชื่อว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง รัสเซียก็พร้อมมีสถานีอวกาศของตัวเองขึ้นสู่วงโคจร
ทางด้านองค์การนาซา บอกว่า การออกมาประกาศถอนตัวของรัสเซียเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมาก แต่ยังไม่แน่ชัดว่ารัสเซียจะถอนตัวออกไปยังไงบ้าง และเมื่อจีนกับรัสเซียต่างมีสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง ได้ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างรัสเซีย-จีน กับประเทศต่างๆ
เหตุใดรัสเซียประกาศถอนตัวจาก ISS
ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นได้ประมาณ 1 เดือน นายดมิทรี โรโกซิน ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรอสคอสมอส ได้แสดงความโกรธแค้นที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกพากันต่อต้านคว่ำบาตรรัสเซีย เลยออกมาบอกว่า ถ้าไม่มีรัสเซียป่านนี้ไอเอสเอสคงตกสู่โลกตรงดินแดนสหรัฐฯ หรือไม่ก็ยุโรปไปแล้ว
คำกล่าวของนายโรโกซินไม่มีรายละเอียดแผนที่แน่ชัด และไม่มีใครคิดว่ารัสเซียจะถอนตัวจากไอเอสเอสจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียจะย่ำแย่ขนาดไหน การทำงานของนักบินอวกาศกลับไม่เคยได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง แต่ก่อนหน้านี้ปรากฏภาพนักบินอวกาศรัสเซียบนสถานีอวกาศสวมชุดสีเหลืองฟ้า สัญลักษณ์ธงชาติยูเครน แม้นักบินอวกาศรัสเซียจะออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด
แต่ทางด้าน นายเลอรอย เฉียว อดีตนักบินอวกาศนาซาและผู้บังคับการสถานีอวกาศไอเอสเอส มองว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะยังไงนักบินอวกาศไม่เคยเอาปัญหาการเมืองบนโลกมาเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศ แต่เขาเชื่อว่าขณะนี้สงครามยูเครนได้ส่งผลกระทบลุกลามไปถึงอวกาศแล้ว
อนาคตของสถานีอวกาศไอเอสเอส
การออกมาประกาศถอนตัวของรัสเซียทำให้เกิดคำถามว่า สถานีอวกาศไอเอสเอสจะเป็นอย่างไรต่อไปหากไม่มีรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าหากไม่มีรัสเซีย สหรัฐฯ และพันธมิตรที่เหลืออาจจะเปิดโอกาสความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีอวกาศเอกชนแทน
...
แต่บางคนก็ไม่เชื่อว่า การแยกตัวออกจากไอเอสเอสจะทำได้ง่ายดายขนาดนั้น โดยที่ผ่านมารัสเซียเป็นฝ่ายควบคุมวิถีวงโคจร ขณะที่นาซา อีเอสเอ และจาซา ช่วยกันดูแลเรื่องพลังงานบนสถานีอวกาศ แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศต่างต้องการกันและกัน ทำงานร่วมกัน และร่วมมือกันอย่างดีตลอดมา
โดยในส่วนของสหรัฐฯ ดำเนินการปีกแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ พร้อมระบบหล่อเย็นสถานีอวกาศ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบการสื่อสารความเร็วสูง ตลอดจนห้องควบคุมแรงดัน 10 ห้อง และระบบการทำงานของแขนกล ตลอดจนท่าเชื่อมต่อยาน 4 จุด ในขณะที่รัสเซียคอยดูแลระบบขับเคลื่อนที่สำคัญมาก เพราะช่วยให้ไอเอสเอสไม่หลุดวงโคจรตกลงมายังโลก
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา รอสคอสมอสกับนาซาเพิ่งลงนามสัญญาความร่วมมือฉบับใหม่ ฟื้นฟูโครงการส่งนักบินอวกาศสหรัฐฯ ขึ้นยานโซยุซของรัสเซีย และให้นักบินอวกาศรัสเซียโดยสารแคปซูลครูว ดราก้อน ของสเปซเอ็กซ์ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังไอเอสเอสจะดำเนินการได้ตามปกติ และจะมีนักบินอวกาศรัสเซียกับสหรัฐฯ ประจำการบนสถานีไอเอสเอสตลอด เพื่อไม่ให้ระบบปฏิบัติการต่างๆ เดินหน้าไปตามปกติแบบไม่สะดุด ซึ่งสัญญานี้จะมีผลไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ปี 2025
...
นอกจากนี้ที่ผ่านมารัสเซียยังมีรายได้จากบริการให้เช่าวิจัยบนสถานีอวกาศ คิดเป็นรายได้ปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าทุกฝ่ายจะหาทางเจรจากันสำเร็จก่อนมีฝ่ายใดแยกตัวออกไป
นายโรบิน เกเทนส์ ผู้อำนวยการไอเอสเอส ของนาซา ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้อยากยุติความสัมพันธ์ด้านอวกาศกับรัสเซีย และไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้นเด็ดขาด แม้นาซาจะต้องเตรียมความพร้อมดำเนินการเอง แต่ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
โดยนาซาและพันธมิตรชาติอื่นที่สถานีอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ต่างต้องการดำเนินการห้องแล็บบนไอเอสเอสต่อไปจนถึงปี 2030 สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทดสอบเทคโนโลยี ตลอดจนความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะบินไปดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต
อนาคตโครงการอวกาศรัสเซีย
เอมี่ ธอมป์สัน ผู้สื่อข่าวด้านอวกาศของเว็บไซต์ Space.com กล่าวว่า แม้รัสเซียประกาศว่าจะถอนตัวจากโครงการไอเอสเอส 2022 แต่ก่อนหน้านี้เริ่มมีแนวทางการสร้างสถานีอวกาศของใครของมัน โดยมีรายงานว่าบรรดาผู้บริหารรอสคอสมอสได้มีการคุยกันมาสักพักเกี่ยวกับการสร้างรูปแบบสถานีอวกาศของตัวเองที่รัสเซียจะสร้างขึ้นมา เช่นเดียวกับสถานีอวกาศเทียนกงของจีน ที่เพิ่งสร้างเสร็จและเตรียมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบปลายปีนี้ นอกจากนี้ยังผ่านความเห็นชอบจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
...
ส่วนนาซาก็คิดจะสร้างสถานีอวกาศของตัวเองภายในปี 2030 ทำให้คาดว่าในอนาคตอันใกล้แต่ละประเทศจะเริ่มสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศจะยังคงมีต่อไป หากในอนาคตจะมีการกลับมาเจรจาความร่วมมือกันสำเร็จ
โดยคาดว่าชิ้นโมดูลแรกของสถานีอวกาศรัสเซียจะถูกส่งขึ้นไปในราวปี 2028 ซึ่งจะเป็นสถานีอวกาศที่มีขนาดเล็กกว่า และอยู่ในวงโคจรสูงกว่าไอเอสเอส หมายความว่าจะไม่มีนักบินอวกาศประจำการ มีแต่แบบไป-กลับตามแต่ภารกิจ ซึ่งจะเป็นการประหยัดต้นทุนดำเนินการได้มาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงรอยต่อระหว่างถอนตัวจากไอเอสเอสและรอสถานีอวกาศแห่งใหม่สร้างเสร็จ นักบินอวกาศของรัสเซียก็จะไม่มีที่ไหนนอกโลกให้บินออกไป และอาจถึงขั้นต้องยกเลิกเช่าฐานปล่อยจรวดแหลมไบโคนูร์ที่รัสเซียเช่าอยู่ในคาซัคสถาน ขณะที่เมื่อไม่ได้ทำโครงการบินอวกาศนานๆ ก็เป็นการยากที่จะฟื้นกลับคืนมา
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชาติตะวันตกมองว่า องค์การอวกาศรัสเซียกำลังน่าวิตกจากการยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ตลอดจนปัญหาภายในอย่างการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาด้านอวกาศของรัสเซียประสบภาวะชะงักงันอย่างมาก.
ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์