• รัฐบาลอังกฤษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เตือนภัยคลื่นความร้อนระดับ "สีแดง" ส่วนหลายประเทศแถบยุโรป อย่างฝรั่งเศส และโปรตุเกส กำลังเผชิญไฟป่าอันตราย ประชาชนหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบ และสภาพอากาศร้อนจัดราวกับนรกบนดิน ด้วยอุณหภูมิทะลุกว่า 40 องศาเซลเซียส
  • ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คลื่นความร้อนในยุโรปปีนี้มาเร็วผิดปกติ และมีหลายปัจจัยที่จะทำให้อยู่ยาวนานกว่าเดิม และสถานการณ์อาจเลวร้ายที่สุดในรอบ 200 ปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ    
  • คลื่นความร้อนที่ปกคลุมยาวนานอาจทำให้เกิดความสูญเสียทั่วทั้งทวีป อาจจะร้ายแรงกว่าเมื่อปี 2546 ซึ่งมีผู้สังเวยชีวิตทั้งจากคลื่นความร้อนโดยตรงและทางอ้อมไปกว่า 30,000 ศพ ขณะที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ ลา แวนเกอร์เดีย ของสเปน รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวกับคลื่นความร้อนแล้ว 360 ศพ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นร้อนในต่างประเทศตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือสถานการณ์ "คลื่นความร้อน" ที่แผ่เข้าสู่แถบยุโรป ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต้องประกาศแผนรับมือ และเตือนให้ประชาชนระวังสภาพอากาศร้อนจัด หลายประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมนี อังกฤษ และสเปน อุณหภูมิสูงทำสถิติร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างที่เมืองกาโซ และบอร์กโดซ์ ของฝรั่งเศส อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 41.9 และ 40.5 องศาเซลเซียสตามลำดับ ส่วนเมืองเซบีญา ของสเปน ร้อนทะลุ 41 องศาฯ เป็นเวลา 9 วันติดต่อกันแล้ว ขณะที่เมืองปินเญา ของโปรตุเกส ร้อนสุดถึง 47 องศาเซลเซียส สูงสุดทำสถิติใหม่ไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา 

นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยไลดา ในสเปน เตือนว่า คลื่นความร้อนที่แผ่กระจายกินเวลายาวนานกว่าปกติ ยังทำให้ดินและต้นไม้ร้อนแห้งเกิดไฟป่าตามมา ซึ่งภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะทำให้ฤดูไฟป่ากินเวลายาวนานไปอีกในหลายพื้นที่ทั่วยุโรป เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยพิบัติทางสภาพอากาศ

...

ไทเลอร์ รอยส์ นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของ AccuWeather เตือนว่า ปีนี้คลื่นความร้อนที่พัดเข้ายุโรปตะวันตกมีความรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 200 ปี หรือนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1757 และกลายมาเป็นคลื่นความร้อนระยะยาวที่กินเวลาประมาณ 20 วัน ต่อเนื่องไปตลอดเดือนนี้และต้นเดือนสิงหาคม

โดยจุดที่น่าวิตกคือหลายพื้นที่ของโปรตุเกส ทางภาคกลางของฝรั่งเศส ฮังการี ทางตะวันออกของโครเอเชีย บอสเนีย เซอร์เบีย ทางตอนใต้ของโรมาเนีย และทางตอนเหนือของบัลแกเรีย

คลื่นความร้อนที่ปกคลุมยาวนานอาจทำให้เกิดความสูญเสียทั่วทั้งทวีป อาจจะร้ายแรงกว่าเมื่อปี 2546 ซึ่งมีผู้สังเวยชีวิตทั้งจากคลื่นความร้อนโดยตรงและทางอ้อมไปกว่า 30,000 ศพ

ขณะที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ ลา แวนเกอร์เดีย ของสเปน รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวกับคลื่นความร้อนแล้ว 360 ศพ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 

สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอังกฤษประชุมฉุกเฉินวางแผนรับมืออุณหภูมิที่คาดว่าจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ทางการประกาศภาวะฉุกเฉิน และได้ออกคำเตือน "สีแดง" ครั้งแรก สำหรับสภาพอากาศร้อนจัด โดยขอให้ประชาชนเตรียมรับมือด้วยการจัดเตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และหลีกเลี่ยงพื้นที่กลางแจ้ง พร้อมทั้งได้สั่งการให้มีการเพิ่มบริการรถฉุกเฉิน การเพิ่มจำนวนเตียงตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่เร็วที่สุด

คลื่นความร้อนมาจากไหน

คลื่นความร้อนที่แผ่กระจายไปทั่วยุโรปคราวนี้เป็นลมอากาศอบอุ่นที่พัดมาจากทะเลทรายซาฮาราทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ลมแรงหอบความร้อนจากทะเลทรายขึ้นไปในเขตหนาว ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดของคลื่นความร้อนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนปีนี้จะมาเร็วขึ้นเนื่องจากโลกร้อน

นักภูมิอากาศวิทยาของกรมอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศส ระบุว่า นี่คือคลื่นความร้อนมาเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ของฝรั่งเศส นับตั้งแต่ปี 2490 อุณหภูมิเดือน มิ.ย.พุ่งทุบสถิติในหลายพื้นที่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตัวบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อุณหภูมิสูงมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าเป็นห่วง ด้านโฆษกองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ผลจากโลกร้อน คลื่นความร้อนจึงเกิดเร็วขึ้น และหากก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาฯ จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

...

ส่องปัจจัยทำสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย

ก่อนหน้าที่จะเกิดคลื่นความร้อน ต้องย้อนไปช่วงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิในหลายประเทศอย่างสเปน และฝรั่งเศส ก็เริ่มอบอุ่นและแล้งกว่าปกติ และพอย่างเข้าสู่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน อุณหภูมิก็สูงขึ้นเฉลี่ยถึง 10 องศาเซลเซียสเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของหลายปีก่อน

ส่วนที่สเปน ซึ่งอุณหภูมิค่อยๆ เพิ่มสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสตั้งแต่เดือนก่อน ก่อนมาเจอกับเมฆฝุ่นจากทะเลทรายแถบซาฮารา ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรง เป็นภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม  

ที่สวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานอุตุนิยมวิทยารายงานว่า อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 6 องศาเซลเซียส มาอยู่ที่กว่า 30 องศาเซลเซียสในช่วงก่อนคลื่นความร้อน 

ขณะเดียวกัน คาดว่าภัยแล้งของยุโรปจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยตลอดสัปดาห์หน้ายังไม่มีสัญญาณว่าจะมีฝนตกในแถบยุโรป โดยพื้นที่ยุโรปตอนกลางไปจนถึงทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน

...

5 ประเทศน่าวิตก

โปรตุเกส ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา โปรตุเกสมีอุณหภูมิทะลุ 47 องศาเซลเซียส ส่วนที่สเปนทะลุ 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดไฟป่าเพิ่มใหม่กว่า 250 จุด ทางการโปรตุเกสประกาศเตือนภัยสีแดงใน 16 เขต โดยผู้บัญชาการสำนักงานป้องกันพลเรือนระบุว่า โปรตุเกสกำลังเผชิญสถานการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด ขณะที่นายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ คอสตา ยกเลิกกำหนดการเยือนต่างประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าที่กำลังรุนแรงอย่างใกล้ชิด 

สเปน นักท่องเที่ยวกว่า 2,300 คน ในเมืองคอสตา เดล โซล เมืองท่องเที่ยวชื่อดังทางตอนใต้ของสเปน ต้องพากันอพยพหนีไฟป่าที่กำลังลุกลามแนวเทือกเขาเซียร์ร่า เดอ มิญาส และจนถึงขณะนี้เกือบครึ่งหนึ่งของผืนป่าในบริเวณเซียร์ร่า เดอ ลา คูเลบรา โดนไฟป่าเผาไหม้ นับเป็นไฟป่ารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสเปน ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อนใหญ่ของสเปนลดลงเหลือเพียง 44.4% จากปริมาณเฉลี่ย 65.7% ในช่วงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

อิตาลี หลายเมืองทางตอนเหนือของประเทศเริ่มทยอยประกาศภาวะฉุกเฉินคลื่นความร้อนในหลายพื้นที่ ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโพ แม่น้ำยาวที่สุดของอิตาลีซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญ ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลังจากไม่มีฝนตกหนักเลยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เขตเทศบาล 170 แห่งในแคว้นปีเยมองเต ทางภาคเหนือของประเทศ ประกาศเตือนประชาชนเรื่องการประหยัดน้ำ โดยห้ามใช้น้ำทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการทำอาหารและเพื่อความจำเป็นในการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่พบการกักตุนน้ำ รดน้ำสวนส่วนตัว หรือล้างรถ จะโดนปรับ 500 ยูโร หรือกว่า 18,000 บาท

...

ฝรั่งเศส ประชาชนกว่า 10,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ หลังไฟป่าลุกลามอย่างหนัก โดยล่าสุดยังมีไฟป่ารุนแรง 3 จุด เผาพื้นที่ป่าไปแล้ว 31,200 ไร่ ทางการท้องถิ่นประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนระดับสีส้มใน 38 เขต จากเมืองบริตตานีไปจนถึงเมืองโกตดาซูร์

อังกฤษ รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเตือนภัยคลื่นความร้อนระดับ "สีแดง" พร้อมเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือกับวันที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า ด้วยการจัดเตรียมน้ำดื่มให้เพียงพอ สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และหลีกเลี่ยงพื้นที่กลางแจ้ง พร้อมทั้งได้สั่งการให้มีการเพิ่มบริการรถฉุกเฉิน การเพิ่มจำนวนเตียงตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่เร็วที่สุด พร้อมระบุว่าสภาพอากาศร้อนมีความเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศเตือนภัยความร้อนระดับสีแดงในอังกฤษ แม้ว่าระบบเตือนภัยความร้อนยิ่งยวดจะเพิ่งเริ่มใช้ในปี 2564 ก็ตาม. 

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล : BBC, Aljazeera, Politico