หลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive black holes) มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์หลายล้านหรือมากถึงพันล้านเท่า นักดาราศาสตร์คิดว่าดาราจักรหรือกาแล็กซีขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งมีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ตรงกลาง แม้การมีอยู่ของหลุมดำมวลมหึมานั้นจะไม่มีข้อโต้แย้ง ทว่านักดาราศาสตร์ยังแสวงหาความเข้าใจว่าหลุมดำเหล่านี้เติบโตและมีวิวัฒนาการอย่างไร โดยหนึ่งในข้อมูลสำคัญก็คือความเร็วการหมุนของหลุมดำ

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยนักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ เผยว่า หลุมดำทุกแห่งสามารถกำหนดได้ด้วย 2 จำนวนคือ การหมุนของหลุมดำ และมวลของหลุมดำ ฟังดูแล้วค่อนข้างง่าย แต่ทีมระบุว่าการหาค่าเหล่านี้ของหลุมดำส่วนใหญ่ได้พิสูจน์แล้วว่ายากอย่างไม่น่าเชื่อ จากการสังเกตไปที่ควาซาร์ซึ่งเป็นวัตถุในอวกาศที่มีแสงสว่างมหาศาลและอยู่ห่างไกลจากโลกมาก ชื่อว่า H1821+643 ควาซาร์แห่งนี้ประกอบด้วยหลุมดำมวลยิ่งยวดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างรังสีปริมาณมากในบริเวณรอบหลุมดำ ทั้งนี้ H1821+643 ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวมังกร ห่างจากโลกราว 3,400 ล้านปีแสง หลุมดำใน H1821+643 มีมวลประมาณ 3,000-30,000 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ทำให้เป็นหนึ่งในหลุมดำที่มีมวลมากที่สุดเท่าที่เคยพบ

ทีมนักดาราศาสตร์เผยว่า ได้ทำการวัดการหมุนของหลุมดำยักษ์ใน H1821+643 ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราหรือกล้องรังสีเอ็กซ์จันทราขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า หลุมดำขนาดมหึมาแห่งนี้หมุนช้ากว่าหลุมดำอื่นๆที่เล็กกว่า.

Credit : Chandra X-ray Center

...