จากตอนที่แล้วกรณี “สัปดาห์การเรียกร้องและฉีกหน้ากากสิทธิมนุษยชนของอเมริกา” วันที่ 27 มิ.ย. ถึง 3 ก.ค. ของรัฐบาลอิหร่านที่ถล่มสหรัฐฯตรงๆแบบไม่อ้อมค้อมนั้น ยังยกตัวอย่างด้วยเช่นกัน ว่าไม่ใช่อิหร่านเพียงคนเดียวที่ได้รับความบอบช้ำจากนโยบายของสหรัฐฯ คนอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมถึงชาวอเมริกันเอง
กระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ให้มุมมองว่า ประการแรก ไม่มีการตรวจสอบหรือสอดส่องการละเมิดสิทธิต่อชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ เช่น ชาวมุสลิมหรือคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ชาวมุสลิมหรือคนผิวสีมักถูกรังเกียจถูกตั้งแง่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ประการสอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาเลสไตน์ที่ยังคงเรื้อรัง โดยที่สหรัฐฯเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของอิสราเอลและได้รับการสนับสนุนคืนทางด้านทรัพย์สินและอื่นๆจากอิสราเอล ประการสาม ชาวเยเมนผู้ถูกกดขี่และไร้ซึ่งการป้องกัน ได้ถูกโจมตีทุกวันโดยอาวุธของอเมริกา ที่ขายให้กับประเทศผู้รุกรานในการทำสงคราม โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเงินและการค้า ในขณะเดียวก็คัดค้านการยุติวิกฤติในประเทศนี้
และตัวอย่างประการสี่ สหรัฐฯมักใช้สองแนวคิด ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือในการกำจัดคน อาทิการลอบสังหาร พล.อ.กอเซ็ม สุไลมานี ของอิหร่าน ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้การก่อการร้ายและกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอสในภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
ผู้รายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเคยกล่าวว่า การลอบสังหารนายพล สุไลมานีถือเป็นการละเมิดสิทธิตามอำเภอใจจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และขัดต่อบทบัญญัติกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพลเมือง สิทธิทางการเมือง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
...
ตามสิ่งที่ถูกกล่าวและเหตุผลต่างๆมากมายที่เพิ่มขึ้นทุกวันนั้น อิหร่านขอประณามอีกครั้งต่อแนวทางการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชนและการใช้สิทธิมนุษยชนแบบสองมาตรฐานโดยสหรัฐ อเมริกาและถือว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่ผู้สนับสนุน แต่เป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้จึงอยากขอให้นานาชาติตระหนักถึงบทบาทขององค์กรทั้งหลายในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ...ต่อสู้กับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานต่อประเทศเอกราชทั้งหลาย.
ตุ๊ ปากเกร็ด