เคยมีการประเมิน ไว้ก่อนสงครามจะอุบัติขึ้นว่า เป็นไปไม่ได้ที่ “ยูเครน” จะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับ “รัสเซีย” ด้วยตัวเพียงคนเดียว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างหนักจากชาติตะวันตก

ผ่านไปเกือบ 130 วัน คำกล่าวนั้นได้กลายเป็นความจริง พันธมิตรตะวันตกและชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) นำโดยสหรัฐอเมริกา กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะโค่นรัสเซียให้จงได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคว่ำบาตรการเงิน พลังงาน เล่นงานเศรษฐกิจรัสเซีย

หรือการส่งมอบกระสุน อาวุธแก่กองทัพยูเครนอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขีด ความสามารถในการทำสงครามยืดเยื้อ หวังให้รัสเซียประสบความสูญเสียหนักหน่วงจน “ถอดใจ” อย่างช่วงครึ่งหลังเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างรถยิงจรวดเอ็ม142 ไฮมาร์ส จากสหรัฐฯ หรือปืนใหญ่อัตตาจรแพนเซอร์ฮาวยิตเซอ 2000 จากเยอรมนี ถูกเข็นลงสู่สนามรบและเริ่มสร้างความเสียหายเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจาก “เครือข่ายคอมมานโดและหน่วยข่าวกรอง” ของชาติตะวันตกที่ช่วยประสานงานให้ยูเครนทำการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ผู้นำเรื่องนี้มาเปิดเผยระบุว่า เป็นเครือข่ายที่ถูกจัดตั้งแบบเงียบๆโลว์โปรไฟล์ เพื่อช่วยฝึกฝน จัดหาขนส่งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และป้อนข่าวกรองแบบเรียลไทม์แก่ยูเครน

...

จากการเปิดเผยของ นางคริสทีน อี. วอร์มุธ รมว.ทบวงทหารบกสหรัฐฯ เผยว่า หลังจากสงครามยูเครน-รัสเซียอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ได้ไม่นาน หน่วยรบพิเศษที่ 10 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ช่วยฝึกฝนหน่วยรบคอมมานโดของยูเครนมาแล้ว ได้เริ่มจัดตั้งเครือข่ายวางแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือกองทัพยูเครนขึ้นที่ฐานทัพในเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันนี้ เครือข่ายวางแผนได้มีประเทศอื่นๆเข้าร่วมแล้วกว่า 20 ประเทศ

“มีหน้าที่หลักคือ การบริหารจัดการอย่างไรก็ได้ ให้อาวุธยุทโธปกรณ์หลั่งไหลเข้าไปในยูเครนอย่างไร้อุปสรรค พร้อมประสานงานกับกองทัพยูเครนในเรื่องการเคลื่อนย้ายตำแหน่ง เล่นไล่จับกับกองทัพรัสเซียที่พยายามค้นหาและยิงทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง”

โครงสร้างการทำงานจะคล้ายกับที่เราเคยใช้มาก่อนในสมรภูมิอัฟกานิสถาน มีทั้งเครือข่ายด้านปฏิบัติการ เครือข่ายด้านข่าวกรอง เครือข่ายประสานงาน ซึ่งทั้งหมดขึ้นตรงกับศูนย์บัญชาการภูมิภาคยุโรปของกระทรวงกลาโหมเพนตากอนสหรัฐฯ อย่างที่ฐานทัพอากาศรามชไตน์ เยอรมนี จะมีทีมเครือข่ายเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “หมาป่าสีเทา” เกรย์ วูล์ฟ ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านกลยุทธ์และเทคนิคแก่กองทัพอากาศยูเครน

ด้านแหล่งข่าวความมั่นคงสหรัฐฯและชาติตะวันตกยืนยันว่า ไม่มี คอมมานโดร่วมรบอยู่ในแนวหน้า แต่มีประจำการอยู่ในประเทศยูเครนหรือที่อื่น เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดผ่านระบบการสื่อสารที่เข้ารหัสไว้ หน่วยรบพิเศษยูเครนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวกรองด้านการรบได้อย่างต่อเนื่องเพื่อการโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพผ่านแอปพลิเคชันแผนที่การรบ ซึ่งจะระบุตำแหน่งที่ตั้ง ทิศทางการบุก การเคลื่อนกำลังพลของฝ่ายรัสเซีย “จึงไม่แปลกที่หน่วยรบพิเศษจะรู้สึกขอบคุณสหรัฐฯ และชาติตะวันตกด้วยการติดธงชาติไว้ตามอุปกรณ์สนาม”

นอกจากนี้ นายดักลาส เอช. ไวส์ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ (CIA) ยังเผยว่า มีทีมซีไอเอปฏิบัติการด้านข่าวกรองอยู่ในกรุงเคียฟของยูเครนเช่นกัน แต่เป็นทีมที่เชี่ยวชาญการอบรมเรื่องต่อต้านก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ สิ่งที่หน่วยรบยูเครนต้องการขณะนี้คือ การฝึกฝนด้านการทำสงครามแบบคลาสสิก รบพุ่งเต็มรูปแบบ รถถังปะทะรถถัง ปืนใหญ่ดวลปืนใหญ่

ปัญหาอยู่ที่ทหารสหรัฐฯจะมีเวลาฝึกฝนการใช้งานอาวุธยุทโธปกรณ์ 6-8 สัปดาห์ แต่สำหรับทหารยูเครนต้องฝึกฝนแบบเร่งรัดภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ไม่เท่ากับ “ปัญหาที่ใหญ่กว่า” นั่นคือ การสูญเสียกำลังพลไปในการรบ ยูเครนกำลังมีปัญหามากในเรื่องนี้ อัตราการเสียชีวิตในสนามรบอยู่ที่ 100 นายต่อวัน คล้ายกับการสูญเสียของทหารอเมริกันช่วงที่สงครามเวียดนามกว่า 50 ปีก่อนกำลังร้อนระอุ

ผลของมันคือ ทหารผ่านศึกที่เชี่ยวชาญการรบมาตั้งแต่สมรภูมิดอนบาสเมื่อ 8 ปีก่อน หรือทหารยูเครนที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเหมาะสมมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยทหารใหม่ที่บางส่วนได้รับการฝึกฝนไม่เพียงพอ ที่สำคัญเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดที่ยูเครนยังขาดประสิทธิภาพในเรื่องการขนย้ายทหารบาดเจ็บออกจากสนามรบ ซึ่งล่าสุดได้มีการสั่งให้หน่วย “กรีนเบเรต์” หน่วยรบพิเศษกองทัพบกสหรัฐฯ ในเยอรมนี จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแก่ทหารยูเครนในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและด้านการแพทย์ที่จำเป็น

...

นายไวส์ยังยอมรับด้วยว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความร่วมมือใน “ภาคสนาม” ได้ถูกระงับไปก่อนเริ่มสงคราม ไม่งั้นสถานการณ์โดยรวมของยูเครนคงดีกว่านี้ แต่ถ้าจะถามว่า ส่งกลับเข้าไปอีกตอนนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ยิ่งหลังจากนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เตือนเป็นระยะๆว่า สถานการณ์อาจลุกลามบานปลาย คำตอบก็คงชัดเจนว่าได้ไม่คุ้มเสีย.

วีรพจน์ อินทรพันธ์