คนงานเหมืองทองแคนาดา ขุดพบซากลูกช้างแมมมอธพันธุ์ขนดก ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกในช่วงยุคน้ำแข็งเมื่อ 30,000 ปีก่อน ร่างของมันอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ถูกแช่เป็นน้ำแข็งอยู่บริเวณใต้ดินชั้นเยือกแข็ง
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 65 รัฐบาลยูคอน ในประเทศแคนาดา เปิดเผยการค้นพบ ลูกแมมมอธสายพันธุ์ขนดก (Woolly Mammoth) ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยคนงานของเหมืองทองคำคล็อบไดค์ ในเขตชนพื้นเมืองที่รัฐบาลยูคอนดูแลอยู่ ได้ขุดพบเข้าโดยบังเอิญ ขณะขุดดินผ่านลงไปถึงชั้นเยือกแข็ง หรือชั้นเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost)

จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ลูกแมมมอธตัวนี้เป็นเพศเมีย เลยมีการตั้งชื่อให้มันว่า "นัน โช กา" (Nun cho ga) ตามภาษาฮั่น ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นแถบอลาสกา ที่แปลว่า "ลูกสัตว์ใหญ่" โดยผิวหนังของลูกแมมมอธยังค่อนข้างสมบูรณ์ บางจุดมีสีชมพู และยังมีเส้นขนติดอยู่ ขาหน้าและขาหลังแต่ละข้างอยู่ในลักษณะไขว้กัน ดวงตาปิดสนิท

แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ยุคน้ำแข็งจำนวนมากในแถบยูคอน แต่ซากที่มีผิวหนังและขนแบบนี้นั้นแทบไม่เคยถูกค้นพบเลย โดยนัน โช กา เป็นแมมมอธที่สมบูรณ์ที่สุดที่ถูกค้นพบในอเมริกาเหนือ.