• โครงการ "อัคนีบาท" กำหนดอายุผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารไว้ที่ระหว่าง 17 ปี 6 เดือน จนถึง 23 ปี ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในหน่วยงานใหม่เป็นทหารหนึ่งใน 3 เหล่าทัพ เป็นเวลา 4 ปี หลังจากนี้อาจมีเพียง 25% ได้รับราชการต่อ เป้าหมายคือการตัดลดค่าใช้จ่ายของกองทัพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเงินเดือนและสวัสดิการ บำเน็จบำนาญทหาร ซึ่งกินเงินไปกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขงบประมาณ
  • ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีงบกลาโหมสูงสุดอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน และถึงกระนั้นก็ยังเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธมากอันดับ 2 ของโลกและมีการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาโรงงานผลิตอาวุธในประเทศ
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการแก้ไขร่างกฎหมายลดขนาดกองทัพในเวลานี้อาจไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เนื่องจากอินเดียยังมีศึกสู้รบตึงเครียดตามแนวพรมแดนทั้งสองด้าน กองทัพต้องพร้อมรบปกป้องดินแดนที่ติดกับเพื่อนบ้านปากีสถาน และจีน

เมื่อวันอังคารที่ 14 มิ.ย. รัฐบาลฮินดูชาตินิยมของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประสบความสำเร็จในการผลักดันแก้ไขกฎหมายปฏิรูประบบการเกณฑ์ทหาร ภายใต้โครงการ "อัคนีบาท" (Agnipath) เป็นภาษาฮินดีที่แปลว่า "เส้นทางแห่งไฟ" เพื่อลดอายุบุคลากรของกองทัพ ประหยัดค่าใช้จ่ายสวัสดิการบำนาญในงบประมาณกลาโหม หันไปมุ่งเน้นเทคโนโลยีทางทหารแทน

...

ชาวอินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาประท้วงรุนแรงบานปลายเป็นเหตุจลาจล เพื่อต่อต้านกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่ มีผู้เสียชีวิต 1 ศพ บาดเจ็บ 13 รายระหว่างการประท้วงในเมืองสีกุนเดอราบัด ในรัฐเตลังกานา ทางตอนใต้ของอินเดีย ขณะที่การประท้วงที่เริ่มจุดชนวนขึ้นในรัฐทางตอนเหนืออย่าง อุตตรประเทศ และพิหาร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ขยายวงไปในหลายรัฐเบงกอลตะวันตก 

ผู้ประท้วงมองว่าแผนของรัฐบาลในการว่าจ้างทหารชั่วคราวแค่ 4 ปี จะลดโอกาสของพวกเขาที่จะได้บรรจุเข้าทำงานตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพ หลายครอบครัวผลักดันให้ลูกหลานฝึกร่างกายเตรียมพร้อมเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นงานที่มีเกียรติมียศ และมีรายได้ประจำกับสวัสดิการ ที่สำคัญยังเป็นหนทางที่จะทำให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน

เนื้อหาโครงการอัคนีบาท

เดิมทีโครงการอัคนีบาทกำหนดอายุผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารไว้ที่ระหว่าง 17 ปี 6 เดือน จนถึง 21 ปี ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกองทัพ เป็นเวลา 4 ปี หลังจากนี้อาจมีเพียง 25% ได้รับราชการต่อ ส่วนที่เหลือจะได้ออกไปประกอบอาชีพอื่น

ผู้ที่เป็นทหารจะได้รับการฝึกเป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นจะเข้าประจำการเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ในช่วงเวลา 4 ปีนี้จะได้รับเงินเดือนคนละ 30,000 รูปี หรือประมาณ 13,500 บาท และสวัสดิการต่างๆ

การประกาศแผนปฏิรูปนี้มีเป้าหมายที่จะตัดลดค่าใช้จ่ายของกองทัพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเงินเดือนและสวัสดิการ บำเน็จบำนาญทหาร ซึ่งกินเงินไปกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขงบประมาณ เมื่อต้องเอาเงินมาจ่ายส่วนนี้ทำให้กองทัพไม่มีโอกาสที่จะได้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ยกระดับไปสู่ความทันสมัย 

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดกระแสต่อต้านรุนแรงจากผู้ประท้วง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ออกมาขยายอายุผู้รับการเกณฑ์ทหาร จาก 21 ปีเป็น 23 ปี พร้อมอธิบายถึงสิทธิประโยชน์จากการจ้างงานทหารระยะสั้น โดยบอกว่า พอครบกำหนด 4 ปีแล้วมีโอกาสที่ทางสำนักงานตำรวจจะมาทาบทามคนกลุ่มนี้ไปเป็นตำรวจ หรือจะมีโอกาสได้ประกอบอาชีพอื่นโดยไม่ติดสัญญาซึ่งเดิมทีอยู่ที่ 17 ปี  

คนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้บอกว่า นี่เป็นโครงการนี้จะทำให้กองทัพอ่อนแอลงและเป็นห่วงว่าเยาวชนที่รับใช้กองทัพครบ 4 ปีแล้วออกมาจะหางานยาก มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงาน ทำให้ตัวเลขคนว่างงานในประเทศพุ่งสูง 

แม้การประหยัดค่าใช้จ่ายจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรมาประหยัดในส่วนของกองกำลังเพราะในการทำศึกสงคราม ทหารที่มีประสบการณ์ยาวนานย่อมเก่งกว่าทหารที่มีประสบการณ์เพียงแค่ 4 ปี และคนกลุ่มนี้คงไม่มีใครยอมทุ่มเทให้กับกองทัพและประเทศชาติ

...

สำหรับคนที่เห็นด้วยต่างมองว่า โครงการนี้เป็นสิ่งที่กองทัพอินเดียจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง เพื่อให้หน่วยงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความทันสมัย โดยมองว่าทหารที่อายุมากๆ ไม่ค่อยรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีได้ดีกว่า และมองว่าโครงการนี้ช่วยคัดกรองทหารเก่งเพียง 25% ให้อยู่ทำงานต่อ และคัดที่เหลือออกไป

แนวคิด "ลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพ"

กองทัพอินเดียมีบุคลากรที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้มากถึง 1.4 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นเหมือนผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ละปีจะมีทหารเกษียณอายุราชการประมาณ 60,000 คน และแต่ละปีจะมีการเกณฑ์ทหารใหม่เข้ามาแทน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเกณฑ์ทหารต้องระงับไป แล้วจากนั้นรัฐบาลก็นำเสนอและผลักดันการแก้ไขกฎหมายตามโครงการอัคนีบาท 

นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กำลังลดขนาดกองกำลังลง เนื่องจากที่ผ่านมาเงินเดือนและเงินบำนาญทหาร คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขงบประมาณกลาโหมในแต่ละปี ซึ่งอยู่ที่ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้เหลือเงินเพียงน้อยนิดในการจัดสรรซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยมาใช้งาน  

...

โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีงบกลาโหมสูงสุดอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีน และถึงกระนั้นก็ยังเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธมากอันดับ 2 ของโลกและมีการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาโรงงานผลิตอาวุธในประเทศ ตลอดจนมีคลังเก็บหัวรบนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

นายกฯ โมดีเคยกล่าวถึงแนวคิดที่จะทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง ปราดเปรียวและคล่องตัว ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีไม่ใช่แค่ความกล้าหาญและความเป็นวีรบุรุษของคน และบอกว่าอินเดียต้องมีศักยภาพในการทำศึกสงครามที่กระชับจบไว ไม่ใช่สงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน   

ไม่นานมานี้พลโท เอสเอส ปานาค อดีตทหารระดับสูงที่ได้รับการเคารพยกย่องของประเทศ ได้ออกมาเสนอแนวคิดการลดขนาดกองทัพ โดยบอกว่าช่วงนี้ที่กองทัพกำลังขาดแคลนทหารนับแสนคน ถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะมีการปฏิรูปกองทัพ โดยบอกว่ากองทัพศตวรรษที่ 21 จะต้องตอบสนองไว และมีเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะในอนุทวีปแห่งนี้ที่มุ่งเน้นสงครามสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และเพื่อให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา กองทัพจะต้องเน้นความคล่องตัวมากกว่าตัวเลขกำลังพล

...

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กองทัพอินเดียมีความจำเป็นต้องปรับลดขนาดลงมาเพื่อให้สามารถทำงานได้ง่ายและคล่องตัวด้วยจำนวนทหารที่น้อยลงกว่านี้ โดยยกตัวอย่างกองทัพจีนที่ใช้งบประมาณจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการทหารคิดเป็นเพียงไม่ถึง 1 ใน 3 ของงบกลาโหมในแต่ละปี โดยจีนมุ่งเน้นอย่างมากที่การพัฒนาความทันสมัยของกองทัพด้วยเทคโนโลยี เทียบกับอินเดียที่ต้องจ่ายเงินเดือนและเงินสวัสดิการทหารถึงเกือบ 60% 

ขณะที่หลายคนมองว่า การแก้ไขร่างกฎหมายลดขนาดกองทัพในเวลานี้อาจไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เนื่องจากอินเดียยังมีศึกสู้รบตึงเครียดตามแนวพรมแดนทั้งสองด้าน กองทัพต้องพร้อมรบปกป้องดินแดนที่ติดกับเพื่อนบ้านปากีสถาน และจีน

โดยปัจจุบันทหารอินเดียหลายหมื่นคนยังต้องเผชิญหน้ากับทหารจีนบริเวณพรมแดนขัดแย้งเทือกเขาหิมาลัย และอีกกว่า 500,000 คนยังต้องประจำการอยู่บริเวณแนวรบแคชเมียร์ ไหนยังต้องรับมือกับภัยจากผู้ก่อการร้ายที่อาจเล็ดลอดเข้ามาตามแนวพรมแดน

นายอนิต มุขเคอร์จี อาจารย์แห่งศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศเอส ราชารัตนาม ในสิงคโปร์มองว่า การลดขนาดกองทัพท่ามกลางอันตรายรอบด้านจากชายแดนที่ยังไม่สงบอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอินเดียเอง 

ผู้เขียน : เพ็ญโสภา สุคนธรักษ์

ข้อมูล : Times of India Aljazeera BBC