ซุปเปอร์โนวา (supernova) คือการระเบิดครั้งใหญ่ในอวกาศ เกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์สิ้นอายุขัย พวกมันมีองค์ประกอบเป็นชั้นๆรอบตัวเอง โดยมีก๊าซไฮโดรเจนอยู่ที่ขอบชั้นนอกสุด แต่หากไม่มีไฮโดรเจนรอบๆ ซุปเปอร์โนวา นั่นหมายความว่าต้องมีบางสิ่งบางอย่างดึงไฮโดรเจนออกไปก่อนการระเบิด นักดาราศาสตร์สงสัยสิ่งใดที่อาจดูดไฮโดรเจนไป หรือว่าจะมีวัตถุปริศนาอยู่ใกล้ๆกันที่เป็นตัวดึงไฮโดรเจน

ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยนักดาราศาสตร์จากสถาบันสเปซ เทเลสโคป ไซเอนส์ ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ใช้กล้องถ่ายภาพ มุมกว้าง 3 (Wide Field Camera 3) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล สังเกตการณ์ในแสงอัลตราไวโอเลตไปที่ซุปเปอร์โนวา 2013ge รวมทั้งตรวจสอบคลังภาพที่เก็บไว้ถาวรที่แสดงการซีดจางของซุปเปอร์โนวาแบบเดียวกับที่ทำในช่วงปี 2559-2563 เพื่อยืนยันการมีอยู่ของดาวข้างเคียงใกล้ๆซุปเปอร์โนวา 2013ge ซึ่งนักดาราศาสตร์คิดว่าซุปเปอร์โนวา 2013ge ต้องมีดาวข้างเคียงที่ดึงไฮโดรเจน ของมันออกไปก่อนการระเบิด แต่ดวงดาวดังกล่าวถูกความสว่างของซุปเปอร์โนวา 2013ge บดบังไว้ อีกทั้งแหล่งกำเนิดแสงอัลตราไวโอเลตในบริเวณใกล้เคียงยังคงสว่างเมื่อซุปเปอร์โนวาจางหายไป
...
ทีมนักดาราศาสตร์เผยว่า การศึกษานี้ได้เพิ่มน้ำหนักให้กับทฤษฎีการเติบโตของดาวมวลมากส่วนใหญ่ที่ก่อตัวเป็นระบบดาวคู่ และการสังเกตการณ์ดาวข้างเคียงที่รอดชีวิตอยู่นับว่าจำเป็นต่อการเข้าใจรายละเอียดเบื้องหลังการก่อตัวของดาวคู่ การแลกเปลี่ยนวัสดุและการพัฒนาร่วมกันของระบบดาวคู่นั่นเอง.
Credit : SCIENCE : Ori Fox (STScl)