• ยาเม็ดแพกซ์โลวิดยารักษาโควิดที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองว่าดีที่สุดในเวลานี้ อาจไม่ดีอย่างที่คิด เมื่อเกิดเคสที่กินยาเข้าไปแล้ว กลับมาป่วยด้วยอาการหนักกว่าเดิม
  • ล่าสุดในสหรัฐอเมริกาก็พบผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการป่วยกำเริบซ้ำหลังรับประทานยาแพกซ์โลวิดเข้าไป แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ไม่มากก็ตาม
  • บริษัทไฟเซอร์เองก็รับทราบปัญหานี้แล้ว และกำลังเร่งตรวจสอบว่า อาการป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำและรุนแรงขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับยาเม็ดตัวนี้อย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้องค์การอนามัยโลก WHO เพิ่งประกาศสนับสนุนการใช้ยาแพกซ์โลวิด ยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดรับประทานจากบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ในกลุ่มผู้ป่วยความเสี่ยงสูง หลังการวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองทางคลินิกของ WHO ในกลุ่มผู้ป่วยเกือบ 3,100 คน ซึ่งผลออกมาว่ายาดังกล่าวสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ถึง 85% แถมยังยกให้ยาแพกซ์โลวิด เป็นยารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับยาที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับเริ่มมีรายงานว่าพบผู้ป่วยบางรายที่กลับมาป่วยซ้ำหลังรับประทานยาแพกซ์โลวิดครบ 5 วัน และมีอาการป่วยหนักกว่าเดิม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ ระบุว่า ไม่แนะนำให้แจกยาแพกซ์โลวิดโดส 2 ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำ ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับยาตัวนี้ ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยกำลังทยอยสั่งยาตัวนี้มาเพื่อใช้รักษาคนไข้ ซึ่งถึงแม้จะเกิดเคสแบบนี้ไม่มากแต่ก็เริ่มพบอาการแบบนี้เพิ่มขึ้น จนนักวิทยาศาสตร์ต้องเร่งหาคำตอบ

...

ขณะที่ บริษัทไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว และกำลังตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยอัตราการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มีความคล้ายคลึงกับผู้ร่วมทดลองที่ได้ยาปลอมในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกเช่นกัน จึงยังไม่ควรยืนยันว่ายาเป็นสาเหตุของอาการเหล่านี้โดยตรง เช่นเดียวกับเอฟดีเอที่ระบุว่า ประมาณ 1-2% ของกลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาประสิทธิภาพของยาแพกซ์โลวิดแสดงให้เห็นว่าระดับไวรัสของพวกเขากลับเพิ่มสูงขึ้นหลังผ่านไป 10 วัน ซึ่งอัตรานี้ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทานยาหลอก จึงไม่ชัดเจนว่าประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดหรือไม่

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญยังคงย้ำถึงผลประโยชน์ของยา ที่จะช่วยป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้แน่นอน ซึ่งผู้ใช้งานก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของยาและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการป่วยซ้ำหรืออาการกำเริบอีกรอบ โดยขณะนี้อัตราการใช้ยาแพกซ์โลวิดในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง

ดร.ชีรา โดรอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์ ทัฟท์ระบุว่า เธอเห็นคนไข้จำนวนมากที่มีอาการดีขึ้นเมื่อใช้ยาแพกซ์โลวิด แต่หลังจากนั้นเมื่อพวกเขาทานยาจนครบ 5 วัน มีบางคนที่กลับมามีอาการป่วยและเมื่อตรวจเชื้อก็พบผลเป็นบวกด้วย และยังพบปริมาณไวรัสที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิจัยกำลังเร่งหาคำตอบอยู่

ดร.ไมเคิล ชาร์เนส หัวหน้าทีมแพทย์จากศูนย์สุขภาพบอสตันที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยปรากฏการณ์ดังกล่าว ระบุว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้พบเคสผู้ป่วยอายุ 71 ปี ที่ได้รับวัคซีนแล้ว และหายจากโควิด-19 แล้วหลังจากได้รับยาแพกซ์โลวิดไป แต่อาการกลับกำเริบขึ้น พร้อมกับมีจำนวนไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 9 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อครั้งแรก โดยมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดและตรวจพบเชื้ออีกรอบ นอกจากนี้ผลการตรวจโมเลกุลยังพบว่าปริมาณของเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้นกว่าตอนที่มีการตรวจวินิจฉัยพบในครั้งแรก แต่ ดร.ชาร์เนส ยืนยันว่าแพกซ์โลวิดยังคงเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่ายานี้อาจมีศักยภาพน้อยในการรับมือกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ เนื่องจากยาตัวนี้ทำการทดสอบประสิทธิภาพกับการต้านไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก โดยยังไม่แน่ชัดว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นการติดเชื้อครั้งใหม่ หรือมีการปรับตัวของเชื้อหรือกลายพันธุ์อย่างไรกันแน่ เพราะมีรายงานการเกิดอาการเช่นนี้จากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ด้านตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น และจะมีคำแนะนำเพิ่มเติมต่อไป โดยเอฟดีเอยังเน้นย้ำว่ารายงานครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อสรุปที่ว่า ยาแพกซ์โลวิดช่วยลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซียังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะคนที่มีอาการป่วยทั้งในระหว่างกักตัว หรือหลังจากกักตัวควรจะยังแยกตัว และยังคงสวมหน้ากาก รวมทั้งตรวจเชื้อให้แน่ใจว่าหายจากอาการป่วยแล้วแน่นอน ส่วนใครที่คิดว่ามีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วยก็ควรตรวจหาเชื้อเพื่อป้องกันไว้ก่อน.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล