• ศึกเลือกตั้งใหญ่ของฟิลิปปินส์กำลังจะมาถึงในวันที่ 9 พ.ค.นี้ และผู้ที่มีโอกาสคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศมาครองตอนนี้คือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของจอมเผด็จการมาร์กอส

  • มาร์กอส จูเนียร์ หรือชื่อเล่นว่า บองบอง มีคะแนนนิยมนำห่างคู่แข่งอันดับ 2 ถึง 33% ซึ่งสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้คือ แคมเปญบนโซเชียลมีเดียที่ช่วยเปลี่ยนประวัติศาสตร์ภาพลักษณ์ตระกูลของเขา

  • อีกปัจจัยที่หนุนส่งบองบองก็คือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนหนุ่มสาวฟิลิปปินส์จำนวนมากเกิดไม่ทันยุคของมาร์กอสผู้พ่อ กอปรกับรัฐบาลที่ผ่านมาแก้ปัญหาปากท้องไม่ได้ พวกเขาจึงพร้อมจะให้โอกาสมาร์กอสอีกครั้ง

ชาวฟิลิปปินส์ 67.5 ล้านคนจะออกไปใช้สิทธิ์เลือกประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ เข้ามาแทนที่ โรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำสายโหดที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งนาน 6 ปีในเร็วๆ นี้ และถูกรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ลงชิงตำแหน่งอีก

ท่ามกลางผู้สมัครชื่อดังมากมายทั้งนางเลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน, แมนนี ปาเกียว นักมวยชื่อก้องโลกผู้เป็นวีรบุรุษของชาติ และ อิสโก โมเรโน อดีตนักแสดงเจ้าของตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลา ผู้ที่กำลังมีคะแนนนิยมนำโด่งและเป็นตัวเก็งจะคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเป็นนายเฟอร์ดินานด์ ‘บองบอง’ มาร์กอส จูเนียร์

ตลอดหลายทศวรรษชื่อมาร์กอสถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของการคอร์รัปชันในฟิลิปปินส์ บิดาของเขาเป็นเผด็จการผู้ถูกโค่นอำนาจ ถูกตัดสินว่ายักยอกเงินหลวง ส่วนมารดาก็มีชื่อเสียจากการสะสมรองเท้าราคาแพงจำนวนมหาศาล ในขณะที่คนในประเทศกำลังยากจน

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกับการควบคุมข่าวสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้มาร์กอสสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ และกลับมาอยู่บนเส้นทางของการเป็นผู้นำประเทศฟิลิปปินส์ได้อีกครั้ง

...

บองบอง ตัวเก็งคว้าชัย

ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักจัดทำโพล ‘พัลส์ เอเชีย’ (Pulse Asia) ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า มาร์กอส จูเนียร์ มีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 ที่ 56% ส่วนนางโรเบรโด ตามมาห่างๆ ที่ 23% แสดงให้เห็นว่า ตระกูลมาร์กอสมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งใหญ่ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ อายุ 64 ปี หรือรู้จักกันในชื่อ บองบอง มาร์กอส เป็นลูกชายคนเดียวของจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้ล่วงลับ ตระกูลของเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยักยอกเงินประเทศไปหลายพันล้านดอลลาร์ และการปกครองของเขาภายใต้กฎอัยการศึกในปี 2515 ก็ถูกยกให้เป็นช่วงเวลามืดมิดที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์

บองบอง มีอายุเพียง 28 ปีเท่านั้นในตอนที่พ่อของเขาถูกโค่นอำนาจในการปฏิวัติพลังประชาชน เมื่อปี 2529 ทำให้ครอบครัวของเขาต้องหนีออกจากวังมาลากันยัง ไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งมาร์กอสผู้พ่อเสียชีวิตระหว่างการลี้ภัย แต่ครอบครัวของเขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับฟิลิปปินส์ในปี 2534 และเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ โดยบองบอง ชนะการชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ จังหวัด อิโลกอส นอร์เต ตามด้วยตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. แต่พ่ายแพ้การชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแก่นางโรเบรโด ในปี 2559

บองบองพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์อันย่ำแย่ของตระกูล ด้วยการปิดปากเงียบหรือปฏิเสธการกระทำผิดหรือข่มเหงประชาชนในยุคการปกครองของผู้เป็นบิดา สร้างเครือข่ายขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ โดยบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลมาร์กอส หรือผู้สนับสนุนของพวกเขา ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมากมายเกี่ยวกับการปกครองของมาร์กอส ถึงขั้นยกให้เป็นยุคทองของประเทศ

มาร์กอส จูเนียร์ หาเสียงด้วยสโลแกน “ร่วมมือกันเราจะผงาดอีกครั้ง” สัญญาจะสนับสนุนความสามัคคีและความหวัง และให้ความสำคัญกับค่าครองชีพกับการจ้างงานเป็นอันดับแรก เขาไม่เข้าร่วมการโต้อภิปรายระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลีกเลี่ยงคำถามยากๆ จากสื่อรวมถึงเรื่องทรัพย์สินของตระกูลของเขา ที่ว่ากันว่ามีมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และเรื่องภาษีที่เขาไม่ได้จ่าย

ใช้โซเชียลเปลี่ยนประวัติศาสตร์

มาร์กอสเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตระกูลสำเร็จในจังหวัดอิโลกอส นอร์เต ฐานที่มั่นซึ่งเต็มไปด้วยผู้สนับสนุนที่ภักดี และตอนนี้พวกเขากำลังใช้พลังของเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของตระกูล เขาถูกกล่าวหาว่าใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงน้องใหม่อย่าง ติ๊กต๊อก (TikTok) สร้างแคมเปญเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมา

ปัจจุบันฟิลิปปินส์ยังใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งถูกครหาอยู่แล้วว่าไม่คัดกรองข้อมูลเท็จเท่าที่ควร เป็นแพลตฟอร์มหลัก มีผู้ใช้งานกว่า 84 ล้านคน แต่ ติ๊กต๊อก ก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมา โดยมีผู้ใช้มากถึง 36 ล้านคนแล้ว

ดร.โจนาธาน คอร์ปุส ออง นักวิจัยด้านข้อมูลเท็จของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า เมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมแล้ว ติ๊กต๊อกมีอัลกอริทึมที่เอื้ออำนวยให้ผู้ใช้งานโด่งดังได้ด้วยการโพสต์เพียงโพสต์เดียวเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนนิยมสร้างคอนเทนต์ที่สร้างผลกระทบเป็นจำนวนมาก ด้วยหวังว่าจะกลายเป็นไวรัล ทำให้โอกาสที่ข้อมูลเท็จจะถูกเผยแพร่เป็นวงกว้างเพิ่มสูงขึ้น

รายงานสืบสวนของสื่อฟิลิปปินส์อย่าง Rappler และ VERA Files ระบุว่า ตระกูลมาร์กอสได้ประโยชน์อย่างมากจากแคมเปญเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะข้อมูลประเภทวิดีโอ ขณะที่นาย อลัน เจอร์มัน นักยุทธศาสตร์การจัดแคมเปญ จากบริษัทประชาสัมพันธ์ในฟิลิปปินส์ บอกกับนิตยสาร TIME ว่า ผู้สร้างคอนเทนต์เหล่านี้ บางคนได้ค่าจ้างถึงเดือนละ 4,700 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในประเทศมีรายได้ต่อเดือนเพียง 170 ดอลลาร์เท่านั้น แต่นายมาร์กอสออกมาปฏิเสธเมื่อ 26 เม.ย. ว่า ไม่เคยจ่ายเงินเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเอง

...

รองเท้าแบรนด์หรูจำนวนมากที่ อิเมลดา มาร์กอส ภริยาของมาร์กอส ซีเนียร์ สะสมเอาไว้ ปัจจุบันถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิฒภัณฑ์แห่งชาติ
รองเท้าแบรนด์หรูจำนวนมากที่ อิเมลดา มาร์กอส ภริยาของมาร์กอส ซีเนียร์ สะสมเอาไว้ ปัจจุบันถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิฒภัณฑ์แห่งชาติ


TIME ยังได้สัมภาษณ์ผู้ใช้งาน ติ๊กต๊อก รายหนึ่ง ชื่อว่า โจอี้ โตเลโด (Joey Toledo) ซึ่งชอบโพสต์คลิปวิดีโอสนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์ และพบว่า ชายวัย 27 ปีรายนี้ ไม่เชื่อในข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ว่า ตระกูลมาร์กอสทุจริตและละเมิดสิทธิ และยืนยันว่า เขาไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับทีมหาเสียงของ บองบอง และไม่ได้รับเงินค่าจ้างใด

โตเลโดโพสต์คอนเทนต์ที่เนื้อหาไม่เป็นความจริงมากมาย รวมถึงคลิปหนึ่งที่ บองบองคุยกับนายปอนเซ เอ็นไรล์ วัย 94 ปี อดีตรัฐมนตรีกลาโหมยุคมาร์กอส ซีเนียร์ และอ้างว่า “ฟิลิปปินส์ภายใต้กฎอัยการศึกปลอดภัยถึงขั้นที่ออกจากบ้านโดยไม่ล็อกประตูก็ไม่มีใครกล้าแตะต้อง” มีผู้ชมกว่า 92,000 ครั้ง หรืออีกคลิปที่ระบุว่า ทรัพย์สินมหาศาลของตระกูลมาร์กอส ไม่ได้มาจากการคอร์รัปชัน แต่มาจากการทำงานด้านกฎหมายให้ราชวงศ์ฟิลิปปินส์ และได้ค่าตอบแทนเป็นทองคำแท่งหนักหลายร้อยตัน ซึ่งข่าวลือนี้แพร่กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดียแล้ว

ตามการเปิดเผยขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ในยุคของมาร์กอสผู้พ่อ มีคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของรัฐถูกจับกุมมากถึง 70,000 คน, 34,000 คนถูกทรมาน และมากก่า 3,000 คนถูกสังหาร แต่คลิปวิดีโอนับไม่ถ้วนในติ๊กต๊อกและเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ กลับบอกว่าช่วงนั้นเป็นยุคทองของประเทศ ที่มีเสถียรภาพและเศรษฐกิจเติบโต ทั้งที่ในความเป็นจริง ตลอด 21 ปีที่มาร์กอสปกครอง หนี้ต่างประเทศของฟิลิปปินส์ พุ่งขึ้นจากไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ จนเศรษฐกิจของชาติถดถอยในปี 2529

“บนโซเชียลมีเดีย พวกเขาเบี่ยงประเด็น มันไม่สำคัญว่าคนคนนั้นจะคอร์รัปชันหรือไม่ พวกเขาจะพูดว่า เขามีผลงานมากมายอย่างพวกโครงสร้างพื้นฐานนั่นที่เราเห็นกัน ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเถียงกับคนพวกนั้น” น.ส. ซา ซา ราวาล ทนายฝึกหัด ผู้ขนานนามตัวเองว่าเป็นชาวอิโลกอสส่วนน้อยมากๆ ที่จะไม่โหวตให้มาร์กอสกล่าว

...

อีก 2 ปัจจัยหนุนบองบอง

ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่ทำให้แคมเปญสร้างความนิยมในตัวบองบองประสบความสำเร็จ ข้อแรกคือ รัฐบาลมากมายหลังจากยุคของมาร์กอส ซีเนียร์ ล้มเหลวในการแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคม ตอนนี้ชาวฟิลิปปินส์มากกว่า 1 ใน 5 ใช้ชีวิตด้วยมาตรฐานต่ำกว่าเกณฑ์ยากจนของประเทศ ขณะที่ความร่ำรวยกระจุกอยู่ในหมู่นักธุรกิจและครอบครัวนักการเมือง รายงานของหน่วยงานรัฐบาลในปี 2561 ชี้ว่า มีชาวฟิลิปปินส์เพียง 1.4% เท่านั้น ที่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือราว 43,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีขึ้นไป

อีกปัจจัยคือ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดย 56% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 65.7 ล้านคนในฟิลิปปินส์ มีอายุไม่ถึง 40 ปี หมายความว่าพวกเขาเกิดไม่ทันยุคการปกครองของมาร์กอส ซีเนียร์ หรืออาจจะเด็กเกินไปจนจำไม่ได้ ขณะที่ พัลส์ เอเชีย พบด้วยว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุระหว่าง 18-24 ปี ถึง 72% ที่สนับสนุนบองบอง

ศาสตราจารย์ ฮูลิโอ ซี. ทีฮังกี จากมหาวิทยาลัย เด ลา เซเย (De La Salle) ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า การที่เครือข่ายสังคมออนไลน์บีบให้เนื้อหาของคอนเทนต์ต้องสั้นกระชับ ทำให้ประวัติศาสตร์แบนราบ เปิดช่องให้ตำนานและข้อมูลผิดๆ เข้าไปอยู่ในใจคนได้ง่ายขึ้น ส่วนศูนย์นโยบายสังคมของมหาวิทยาลัย ฟาร์ อีสเทิร์น (FPPC) เผยแพร่รายงานเมื่อ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา ชี้ว่า ข้อมูลเรื่องความเผด็จการของมาร์กอสมักไม่ถูกพูดถึงในชั้นเรียนหรือหนังสือเรียน ทำให้ข้อมูลผิดๆ ที่พวกเขารู้จากโลกออนไลน์ถูกเชื่อง่ายๆ

อย่างเช่น โตเลโด เป็นต้น เขาเชื่อว่าข้อครหาเกี่ยวกับทรัพย์สินของตระกูลมาร์กอส เป็นการใส่ความจากตระกูลอากิโน ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองมานาน “สมมติว่า เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสยักยอกเงินจริงๆ ก็มีโครงการมากมายถูกสร้างขึ้นมา เงินบางส่วนถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ”




ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : time, the guardian, bbc

...